วันนี้ (22 ก.ย.65) นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงแผนการจัดการเลือกตั้งที่ถูกเผยแพร่ออกไป ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พ.ค. 2566 เป็นเพียงแค่แผนงานของ กกต. ที่ต้องวางไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไม่ว่าสถานการณ์ใดจะเกิดขึ้นก็ตาม โดยยึดเวลาการครบวาระการดำรงตำแหน่งของสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ซึ่งจะมีกิจกรรมและระยะเวลาตามกฎหมาย รวมถึงการบริหารทางธุรการ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมตามปกติ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เลือกตั้งใกล้มาแล้ว!! กกต.กำหนด 7 พ.ค. 66 เลือกตั้ง ส.ส. หากสภาฯ อยู่ครบวาระ)

เลขา กกต. กล่าวว่า หากมีการประกาศยุบสภา กกต. ก็มีแผนรองรับไว้แล้ว มั่นใจว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ แต่เนื่องจากขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่ง กกต.ยังไม่สามารถระบุอะไรได้ชัดเจน แต่ยอมรับว่าหากยุบสภาทั้งที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ จะต้องกลับไปใช้กฎหมายเดิม ที่พรรคการเมืองจะต้องมีการทำ Primary vote หรือ การเลือกตั้งขั้นต้น และต้องมีสาขาพรรคตามที่กฎหมายกำหนดก่อน จึงจะสามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้
ส่วนกรณีที่ กกต. ได้ออกประกาศเตือนพรรคการเมืองในการหาเสียง ก่อนที่จะถึงกำหนดการเลือกตั้ง 180 วันนั้น ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 24 ก.ย. 2565 นี้ นายแสวง เลขา กกต. ชี้แจงว่า เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งนี้ แตกต่างไปจากการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งจะมีข้อบังคับว่าพรรคการเมืองสามารถดำเนินการใดได้หรือไม่ ในระยะเวลา 6 เดือน แต่เชื่อว่าการหาเสียงของพรรคการเมืองจะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าการแบ่งเขตจะแล้วเสร็จ ซึ่งสำนักงาน กกต. จะเสนอกรรมการ กกต. ออกข้อบังคับแนวทางการหาเสียงให้ชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ และมั่นใจว่า พรรคการเมืองจะเข้าใจข้อจำกัดในการหาเสียง กับการลงพื้นที่เพื่อช่วยประชาชน

“ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.65) สำนักงาน กกต. นัดประชุมพรรคการเมือง เพื่อทำความเข้าใจในการเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้ง ทั้งการจัดการประชุมใหญ่ รวมถึงการเลือกตั้งขั้นต้น เพื่อคัดเลือกผู้สมัคร สส. ของแต่ละพรรคการเมือง และการลงพื้นที่หาเสียงว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้บ้าง ในการลงพื้นที่หาเสียง ทุกอย่างมีอยู่ในระเบียบว่าด้วยการหาเสียงอยู่แล้ว ซึ่ง กกต.ก็จะมีการหยิบยกขึ้นมาชี้แจงในเวทีนี้อีกครั้ง เพื่อให้เข้าใจตรงกัน และพรรคการเมืองก็จะต้องศึกษาระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียงด้วย” เลขา กกต. ระบุ
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะเข้าข่ายใช้โอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการ หาเสียงหรือไม่นั้น นายแสวง เลขา กกต. ยอมรับว่า พรรคการเมืองจำเป็นต้องศึกษาระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียงให้ละเอียด เพราะได้มีข้อกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ และ ทาง กกต. ก็ไม่ได้จับตาอะไรเป็นพิเศษ