น้ำท่วมกรุงเทพฯ น้ำถนนพังหลายพื้นที่ โดยวันนี้(24 ก.ย.2565) ทีมข่าวออนไลน์ Ch7HD News ลงพื้นที่สำรวจถนนลาดพร้าวตั้งแต่ช่วงห้าแยกลาดพร้าวต่อเนื่องมุ่งหน้าแยกบางกะปิ ซึ่งถนนลาดพร้าวเป็นเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น ประกอบกับมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เมื่อมีฝนตกหนัก มักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

น้ำท่วม ถนนพัง ใครต้องดูแล?
ถนนและซอยแยกย่อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แบ่งอำนาจหน้าที่ดูแลเป็น 2 ส่วน คือ หน่วยงานสังกัด กทม. แบ่งเป็น สำนักการโยธา และสำนักงานเขต ส่วนหน่วยงานที่ไม่ได้สังกัด กทม. ได้แก่ กรมทางหลวง, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย, หน่วยงานทหาร และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่ง ร็อกเกต มีเดีย แล็บ รวบรวมข้อมูลไว้ พบว่า ความรับผิดชอบของสำนักการโยธาและสำนักงานเขตนั้น แยกได้เป็นสองรูปแบบคือ ถนนและซอยที่ขึ้นทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไว้แล้ว จะเป็นถนนหรือซอยที่ก่อสร้างโดยงบฯ ของท้องถิ่น เมื่อนำไปขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงท้องถิ่นแล้ว ก็จะสามารถของบฯ จากกรมทางหลวง (รัฐบาลกลาง) ในการซ่อมบำรุงได้ นอกเหนือไปจากการใช้งบฯ ของท้องถิ่นเอง อีกส่วนคือถนนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไว้
สถิติน่าสนใจเกี่ยวกับถนนในกรุงเทพฯ ร็อกเกต มีเดีย แล็บ ได้สำรวจรวบรวมข้อมูลมาแล้วโดยอ้างอิงตามสำนักการโยธา พบว่า
เขตพระนคร มีถนนในการดูแลมากที่สุด 77 สาย ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงท้องถิ่น 63 สาย ไม่ได้ขึ้นทะเบียน 4 สาย ถือเป็นเขตที่มีถนนทางหลวงท้องถิ่นมากที่สุด
ดินแดง มีจำนวนซอยมากที่สุดคือ 207 ซอย แต่ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงท้องถิ่นเพียง 56 ซอย ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน 151 ซอย
หนองแขม มีซอยเป็นทางหลวงท้องถิ่นมากที่สุดก็คือ 172 ซอย
เขตจตุจักร มีถนนในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้สังกัด กทม. มากที่สุด โดยเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย 7 สาย และกรมทางหลวง 1 สาย

ฉะนั้น คงต้องแบ่งตามอำนาจรับผิดชอบ ว่าเป็นถนนเส้นไหน สายใด ขึ้นตรงกับหน่วยงานใด ก็ต้องใช้งบประมาณจากหน่วยงานนั้นเข้าซ่อมแซมปรับปรุงส่วนที่เสียหาย ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ
ถนนพังใช้งบประมาณมากน้อยแค่ไหนในการซ่อมแซม?
ข้อมูลงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2516-2565 จะพบว่า สำนักการโยธา ได้งบมากที่สุด สูงถึง 173,497,685,168 บาท ซึ่งสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมถนนนั้น จะมีงบหลักอยู่ 3 ส่วน คือ 1) งบกลาง 2) งบสำนักการโยธา และ 3) งบสำนักงานเขต

โดยร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พบว่า
งบกลาง 14,370,732,600 บาท แบ่งเป็นเงินสำรองจ่ายทั่วไป กรณีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับน้ำท่วม 100,000,000 บาท
สำนักการโยธา งบประมาณทั้งหมด 8,814,838,000 บาท แบ่งเป็นผลิตบำรุงรักษาโครงข่ายถนน 939,220,900 บาท (ส่วนใหญ่เป็นค่าซ่อมแซมถนน ตรอก ซอย สะพาน และสิ่งสาธารณประโยชน์ ค่าซ่อมแซมไฟฟ้าสาธารณะ ค่าซ่อมแซมสะพานข้ามคลอง และสะพานท่อ ฯลฯ)
งบสำนักงานเขต แต่ละเขตจะจัดสรรแตกต่างกันออกไป เช่น เขตลาดพร้าว ซึ่งเป็นพื้นที่สำรวจ แบ่งงบประมาณงานบำรุงรักษาซ่อมแซม 5,414,660 บาท โดยเป็นค่าซ่อมแซมถนน ตรอก สะพานและสิ่งสาธารณประโยชน์ ค่าซ่อมแซมไฟฟ้าสาธารณะ จำนวน 2,035,700 บาท
ฉะนั้น คงต้องตรวจสอบดูอีกครั้ง ว่าถนนหนทางหน้าบ้านของทุกคนซึ่งเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ได้มาตรฐาน เสียหายจากน้ำท่วม จะเป็นหน้าที่ของใครที่ต้องรับผิดชอบ แต่หน้างานคงหนีไม่พ้นหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร




