เงิน กยศ. สำนักรับผิดชอบใหญ่สุด นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา หรือครูหยุย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า มีนักข่าวถามว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่าน สส. จะมา สว. แล้ว คิดเห็นอย่างไร ผมตอบไปว่า ต้องพิจารณาภาพรวม แบ่งเป็น 8 ประเด็น คือ
1. ที่ผ่านมา กยศ. ให้นักเรียน นักศึกษา กู้ไปแล้ว 6,284,005 คน วงเงินรวม 702,309 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ใช้หนี้หมดแล้ว 1,669,129 คน อยู่ระหว่างชำระหนี้เงินกองทุน 3,559,421 คน และผู้กู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 68,787 คน
2. กยศ.มีรายได้เข้ามาต่อปี จากดอกเบี้ย 3,000 ล้าน จากค่าปรับ 3,000 ล้าน
3. กยศ.มีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการมากถึง 2,000 ล้านบาทต่อปี หากเอาตามร่างกฎหมายของ สส. ใน 3 หลัก "ไม่ต้องค้ำประกัน ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และไม่ต้องเสียค่าปรับผิดนัดชำระหนี้" รายรับที่ได้คืนมาหมุนเวียน จะหายไป 6,000 ล้านบาท
4. เรื่องเงินก็มีความสำคัญที่ต้องมีหมุนเวียนเพื่อคนรุ่นต่อไปจะได้มีกู้
5. เรื่อง ”สำนึกรับผิดชอบ” น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สุด ที่ผู้กู้จะต้องมี
6. ระบบบริหารจัดการใช้งบมหาศาล แต่ประสิทธิภาพน้อย
7. กระบวนการผ่อนชำระคืน จำเป็นต้องมีรายละเอียดตัวบุคคล เพื่อจะได้ร่วมกันช่วยเหลือดูแล
8. สถานศึกษาและมหาวิทยาลัย ต้องมีส่วนร่วมในการกระตุ้นจิตสำนึกของนักเรียนและนักศึกษาที่กู้ยืม ให้มีความรับผิดชอบ