คอลัมน์หมายเลข 7 : ชวนคิด แผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า ควรปรับปรุงหรือไม่

View icon 206
วันที่ 30 ก.ย. 2565
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ปิดท้ายซีรีย์ข่าวว่าด้วยเรื่องค่าไฟฟ้า และการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ด้วยคำถามชวนคิด ถึงเวลาต้องปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP หรือยัง ควรมีแผนจากประชาชนคู่ขนานไปกับแผนของภาครัฐหรือไม่ ไปหาคำตอบเรื่องนี้กับ คุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

สาเหตุที่ทำให้เริ่มมีการพูดถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ภาคประชาชน เพราะเห็นจุดอ่อนจากแผน PDP ของกระทรวงพลังงาน ว่าอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง เนื่องจากพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินจริง พึ่งพาโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินมากเกินไป ผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกินความจำเป็น สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าเอื้อเอกชนมากเกินไป แม้ไม่ใช้ ไม่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็ต้องจ่าย จนทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระดังกล่าวผ่านค่าไฟฟ้าฐาน และค่าเอฟที จึงมีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรยุติ หรือ ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่จะตั้งใหม่ทั้งใน และต่างประเทศออกไปก่อน จนกว่าจะปรับปรุงแผน PDP ให้สะท้อนความต้องการไฟฟ้าที่เป็นจริง รวมถึงทบทวนสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าเพื่อปรับปรุงข้อสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมเสียก่อน

ตามแผน PDP พ.ศ. 2561-2580 ที่เป็นแผนแม่บทในการกำหนดความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนทั้งประเทศ ฉบับปัจจุบัน ยังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 50 ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจากข้อมูลในเว็บไซต์ กฟผ. ณ เดือนมกราคม ถึง มิถุนายนปีนี้ พบว่ามีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมากถึงร้อยละ 55 ถ่านหินนำเข้า ร้อยละ 16 ไฟฟ้านำเข้าร้อยละ 15 พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 10 พลังงานน้ำ ร้อยละ 3 และน้ำมัน ร้อยละ 0.4 ซึ่งภาคประชาชน และอดีตเจ้ากระทรวงพลังงาน เห็นสอดคล้องกันว่า แผนที่วางควรปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

การกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง จะช่วยให้เกิดโครงสร้างราคาไฟฟ้าที่เป็นธรรมต่อประชาชน ส่วนจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ คงต้องรอดูวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง