ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต บอกว่า กรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งนั่นหมายถึงคนที่เป็นพ่อและแม่จะมีความสะเทือนใจมากกว่า กรมสุขภาพจิต จึงต้องส่งทีมวิกฤตสุขภาพจิตเข้าประจำหมู่บ้าน เพื่อดูแลสภาพจิตใจครอบครัวและคนใกล้ชิดผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจต้องครอบคลุมไปถึงทั้งชุมชนข้างเคียงด้วย
กรมสุขภาพจิต ยังฝากไปถึงคนที่เสพข่าวกราดยิงครั้งนี้ว่าหากเริ่มรู้สึกเครียด ไม่สบาย และเริ่มมีอาการคิดมาก หวาดวิตก ควรเลิกเสพข่าว หรือรับข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้ และไม่ส่งต่อข้อมูลที่จะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกแก่บุคคลอื่นด้วย
หลังจากนี้ หลาย ๆ หน่วยงานคงมีการพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องมาตรการป้องกัน และระวังเหตุ และการหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ลักษณะนี้ เนื่องจากนี่ไม่ใช่โศกนาฏกรรมแรกจากความคลุ้มคลั่ง
ขณะที่การเยียวยาจากหน่วยงานรัฐบาลเบื้องต้นผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ก่อเหตุและครอบครัวจะไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ แต่ผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการกระทำของอดีตตำรวจ เบื้องต้นจะได้รับการเยียวยาจาก พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ของกระทรวงยุติธรรม
กรณีเสียชีวิต ค่าตอบแทนการเสียชีวิต 30,000 บาท, จัดการศพ 20,000 บาท, ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูไม่เกิน 30,000 บาท, ค่าเสียหายอื่นอีก 30,000 บาท รวมเป็น 110,000 บาท
กรณีบาดเจ็บ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 40,000 บาท, ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ 20,000 บาท, ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ คิดตามระยะเวลา ค่าแรงขั้นต่ำ ค่าตอบแทนความเสียหายอย่างอื่นไม่เกิน 30,000 บาท
กองทุนสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เยียวยารายละ 200,000 บาท
ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ ทำประกันให้เด็กและคุณครูไว้ ซึ่งประกันจะจ่ายรายละ 50,000 บาท