นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ไปติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแพร่ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดน่าน

View icon 49
วันที่ 24 พ.ย. 2565
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
วันนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการฯ ไปติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำแม่แคมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดแพร่ และผลการดำเนินงานโครงการฯ จากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งปี 2525 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำยม เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งให้กับราษฎรในเขตพื้นที่อำเภอเมือง โดย กปร. สนับสนุนงบประมาณปี 2561 ให้กรมชลประทาน ดำเนินการในระยะแรก ลักษณะโครงการเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน ความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 8.55 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน ดำเนินงานร้อยละ 83.51 คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งจะสร้างประโยชน์ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรให้กับราษฎรตำบลสวนเขื่อน, ตำบลกาญจนา และตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ จำนวน 1,881 ครัวเรือน โดยช่วงน้ำหลากที่ผ่านมา สามารถกักเก็บน้ำไว้แล้วบางส่วน ทำให้ช่วยป้องกันบรรเทาอุทกภัยได้

จากนั้น เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดน่าน อำเภอเมือง เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำ โดยจังหวัดน่าน มีอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 83 แห่ง ปริมาณน้ำปัจจุบัน 39.473 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 122,460 ไร่ การพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัด โดยกรมชลประทาน ประกอบด้วย โครงการชลประทานขนาดกลาง มีอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง ฝายทดน้ำ 6 แห่ง พื้นที่ชลประทาน 63,840 ไร่, โครงการพระราชดำริ มีอ่างเก็บน้ำ 26 แห่ง พื้นที่รับประโยชน์ 17,500 ไร่, โครงการชลประทานขนาดเล็ก มีอ่างเก็บน้ำ 48 แห่ง พื้นที่รับประโยชน์ 41,120 ไร่ ในปี 2565 มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 12 หมู่บ้าน ในอำเภอเชียงกลาง ท่าวังผา และสองแคว แก้ปัญหาด้วยการนำรถบรรทุกเข้าไปแจกจ่ายน้ำให้ชุมชน โดยระยะยาวเตรียมขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อก่อสร้างระบบประปา สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าแล้งปี 2565-2566 ได้เร่งเก็บกักน้ำ เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำ กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืช ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนด้วย

ข่าวอื่นในหมวด