นักเทคนิคการแพทย์ ภาคภูมิ เดชหัสดิน เจ้าของเพจหมอแล็บแพนด้า นำภาพการโพสต์ข้อความของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่อ้างตัวเป็นนักโทษชาย โพสต์ภาพข้อเท้าติดกำไล EM ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ควบคุมความประพฤติผู้ต้องหา หรือผู้ที่มีความผิดตามกฎหมาย พร้อมข้อความ ประกาศหาคนถอดกำไล EM ที่ข้อเท้า ยื่นข้อเสนอให้เงิน 100,000 บาท หากถอดกำไลได้ นอกจากนี้ ยังได้โพสต์แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ตนเองโดนคดีร่วมกันฆ่า แต่มีคนรับจบไป เลยรีบไปเยียวยาผู้ตายเป็นเงินจำนวนหนึ่งหลักแสนปลาย ๆ ญาติผู้ตายเลยไม่ติดใจเอาความ จากนั้นก็ยัดเงินให้ตำรวจกับอัยการเลยทำให้หลักฐานไม่ถึงตนเอง จึงโดนลงโทษคุมประพฤติ 3 ปี ทำประโยชน์แก่สังคม 60 ชั่วโมง ซึ่งก็มีคนเข้าไปแสดงความเห็นเรื่องนี้ค่อนข้างหลากหลาย ถามถึงหน่วยงานต่าง ๆ ว่า จะดำเนินการอย่างไร อีกทั้งยังขอให้รื้อคดีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ทีมข่าวสอบถามเรื่องนี้กับ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ในฐานะโฆษกอัยการสูงสุด ก็ได้รับคำตอบว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบดูแลกรณีผู้ที่กระทำผิดและถูกคำสั่งให้ใส่กำไล EM คือ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม หากพบมีการฝ่าฝืนเงื่อนไข ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล กรมคุมประพฤติ จะต้องทำเรื่องขอให้ศาลพิจารณา เพิกถอนเงื่อนไขการควบคุมตัว และนำตัวผู้กระทำผิดไปพิจารณาโทษใหม่ หรือขอให้มีคำสั่งนำตัวไปขังในเรือนจำตามคำพิพากษาเดิม ก่อนการลดหย่อนโทษ
ส่วนที่มีการอ้างเรื่องยัดเงิน หรือติดสินบนตำรวจและอัยการ เนื่องจากไม่เห็นสำนวนคดี จึงชี้แจงรายละเอียดไม่ได้ แต่คาดเดาว่า ไม่น่าเป็นความจริง เนื่องจากการที่ผู้กระทำผิดจะถูกคำสั่งให้สวมกำไล EM ได้ หมายถึงต้องมีการทำสำนวนคดี และอัยการสั่งฟ้องแล้ว ศาลจึงพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใด หากต้องยัดเงินเพื่อติดสินบนจริง ควรเป็นการวิ่งเต้นเพื่อให้หลุดพ้นทางคดีมากกว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะเรียนไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อให้พิจารณาว่าควรจะมีคำสั่งดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่