วันนี้ (28 พ.ย.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่าน blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย ถึงสถานการณ์โควิดในประเทศ โดยระบุว่า
“ไม่ประมาท โควิดไทยเริ่มขาขึ้นแล้ว 1 เดือนที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่าตัว เข้าสู่ระลอกย่อยใหม่แล้วชัดเจน ซึ่งสถานการณ์โควิดของไทยอยู่ในทิศทางเดียวกับสถานการณ์โควิดของโลก ที่กำลังเกิดระลอกใหม่
ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากมาตรการผ่อนคลายทางสาธารณสุข เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและมีไวรัสกลายพันธุ์ย่อยใหม่เกิดขึ้นอีกด้วย
จากการติดตามสาเหตุจากมาตรการผ่อนคลายทางด้านสาธารณสุข นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ซี่งมีการปรับเปลี่ยนความเข้มของมาตรการสาธารณสุข จากโรคติดต่ออันตาย เป็นโรคติดต่อที่ผ่านระวัง
พบว่าในเดือนแรก โควิดอยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ จนเข้าสู่จุดต่ำสุด ในช่วงวันที่ 23-29 ตุลาคม 2565 ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสัปดาห์ละ 2515 ราย และเสียชีวิต 33 รายแต่ในรายงานล่าสุดของกรมควบคุมโรค เป็นตัวเลขของช่วงวันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2565 พบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้าคือ 13-19 พฤศจิกายน 2565
ผู้ติดเชื้อแบบพีซีอาร์
เพิ่มขึ้นจาก 3957 ราย เป็น 4914 ราย เพิ่มขึ้น 24.18%
เสียชีวิต
เพิ่มขึ้นจาก 69 รายต่อสัปดาห์ เป็น 74 ราย เพิ่มขึ้น 7.2%
อาการปอดอักเสบ
เพิ่มขึ้นจาก 432 เตียง เป็น 553 เตียง เพิ่มขึ้น 28%
ใช้เครื่องช่วยหายใจ
เพิ่มขึ้นจาก 252 เตียง เป็น 319 เตียง เพิ่มขึ้น 26.5 %
และถ้านำตัวเลขล่าสุด ไปเปรียบเทียบกับจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 23-29 ตุลาคม 2565 พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 95.39% ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 124.24% จากตัวเลขดังกล่าว พอจะประเมินสถานการณ์โควิดของประเทศไทยในขณะนี้ได้ว่า มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ หรือหนึ่งเดือนเต็มแล้ว จึงทำให้โควิดของไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น ขยับตัวเข้าสู่ระลอกใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นระลอกเล็กหรือระลอกย่อยในทิศทางเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลก
การมีวินัยในการป้องกันโรค เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยบ่อยด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ และการใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่เสี่ยงและกิจกรรมเสี่ยง จึงยังคงมีความจำเป็นมากตลอดจนการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสามด้วย เพื่อที่จะทำให้สถานการณ์โควิดของไทยอยู่ในสภาวะที่พอจะยอมรับได้ เพื่อให้มิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจะได้เดินหน้าต่อไป
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องมีความพอเหมาะพอดี ไม่กังวลมากเกินไป และเช่นเดียวกัน ต้องไม่ประมาทมากเกินไปด้วย"