เทรนด์ปรับปรุงโกดังเก่าเป็น Creative Space

เทรนด์ปรับปรุงโกดังเก่าเป็น Creative Space

View icon 114
วันที่ 30 พ.ย. 2565 | 16.08 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด หลายคนอาจจะมีโรงงานเก่าหรือโกดังที่ทิ้งร้างไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ หลายคนได้โรงงานเก่ามาจากกิจการครอบครัวที่สืบทอดกันมา และอยากจะมีแนวคิดปรับเปลี่ยนให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เทรนด์ที่นิยม คือ ผู้ประกอบการสมัยใหม่ได้มีการปรับปรุงโรงงานเก่ากลายเป็นร้านกาแฟ แกลอรี่ศิลปะ โรงแรม Boutique แต่ถ้าหากมีพื้นที่เป็นบริเวณกว้างลองทำเป็นพื้นที่ Creative Space น่าสนใจไม่น้อย

หลายประเทศนิยมปรับเปลี่ยนโรงงานหรือโกดังเก่าให้เป็นพื้นที่ใช้สอยแก่ชุมชน เรียกว่า Creative Space  หรือ ชุมชนคนสร้างสรรค์ ใช้เป็นสถานที่จัดอีเว้นท์ แสดงผลงานศิลปะ สตูดิโอ นิทรรศการ สถานประกอบการแนว start up  รวมไปถึง สำนักงาน ร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ ตัวอย่างพื้นที่ Creative space ระดับโลกเช่นในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นชื่อสถานที่แสดงผลงานศิลปะ นิทรรศการ สำนักงาน ร้านค้า ไปจนถึงร้านอาหารที่มีเอกลักษณ์แนว Loft กรุงวอซอร์ ประเทศโปแลนด์ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่โรงงานผลิตอาวุธเก่าของทหารที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างมานาน จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้เป็น Creative Space โดยได้แรงบันดาลใจมาจากมหานครนิวยอร์กเช่นกัน อย่างกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มี 798 Art Zone ย่านศิลปะที่ถูกดัดแปลงจากย่านอุตสาหกรรมของจีนร่วมกับสหภาพโซเวียต เมื่อประมาณปี 1951 พื้นที่ดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีร้านค้าของเหล่าศิลปิน ร้านหนังสือ แกลเลอรี และพื้นที่แสดงงาน รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการและงานศิลปะระดับนานาชาติ

ในประเทศไทยมีจำนวนโรงงานเก่าและโกดังทิ้งร้างมีมากมาย อาจปรับพื้นที่ทำเป็นจุดท่องเที่ยว โดยที่ไม่ต้องสร้างที่ใหม่ เน้นขายสินค้าบริการเชิงสร้างสรรค์ และผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ได้ รวมถึงอาจทำเป็นพื้นที่แสดงออกให้แก่ชุมชนนักออกแบบคนรุ่นใหม่ ประเด็นหนึ่งที่ขอย้ำ คือ การปรับเปลี่ยนโรงงานหรือโกดังเก่าจำเป็นต้องให้สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบปรับปรุง และผู้เชี่ยวชาญในการปรับปรุงโครงสร้าง เพราเอกลักษณ์ของโรงงานหรือโกดังเก่านิยมใช้โครงสร้างเดิม ดังนั้นไม่ควรต่อเติมเอง อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้การทำความสะอาดโรงงานเก่าหรือโกดังเก่าต้องได้มาตรฐาน ตัวตึกเก่าอาจมีส่วนผสมสารเรดอนและสารอื่นๆที่ฝังลึกอยู่ด้วย การสูดดมเอากลิ่นเข้าไป  จำเป็นต้องมีการทำความสะอาดที่ถูกต้องตามกระบวนการ เพื่อป้องกันไม่ให้มีสารตกค้างก่อนนำมาทำประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่น

“เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย”  หรือชื่อภาษาอังกฤษ คือ Thailand Creative District Network (TCDN) ถือเป็นช่องทางสนับสนุนให้ตัวแทนพื้นที่จากทุกจังหวัดที่มีความพร้อม และต้องการพัฒนาย่านของตน ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันค้นหาจุดแข็งในการ พัฒนาและต่อยอดสินทรัพย์ในท้องถิ่นก้าวสู่การเป็น “พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่าย จำนวนมากกว่า 30 พื้นที่ ใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบ ซึ่งจะได้รับการพัฒนาในทุกมิติเพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ให้กับย่านอื่นๆ ในเครือข่าย TCDN ตั้งเป้าหมายไว้ 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ ย่านเจริญกรุง  เชียงใหม่ ย่านช้างม่อย  ขอนแก่น ย่านศรีจันทร์ สงขลา ย่านเมืองเก่าสงขลา และ แพร่ ย่านเจริญเมือง นอกจากนี้ มีตัวอย่าง “อาคาร 586 ถนนสี่พระยา” เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องพัฒนาอาคารตึกแถวร้างของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ได้รับการบูรณะปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้เต็มศักยภาพตามลักษณะการใช้งานของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ และเป็นสถานที่ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมระหว่างคนในและนอกพื้นที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ในเชิงชุมชน

ผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์อาจลองปรับปรุงสถานที่อย่างโรงงานหรือโกดังเก่าให้กลายเป็นแลนด์มาร์คด้านศิลปะ ตลอดจนมีร้านค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ออกแบบเป็นเอกลักษณ์ ผู้ประกอบการเสมือนเป็นฟันเฟืองเล็กๆที่รวมตัวกันพัฒนาพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์และเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง