คอลัมน์หมายเลข 7 : กรณีศึกษา ความกดดันและวัฒนธรรมทุจริตในองค์กร

View icon 263
วันที่ 30 พ.ย. 2565 | 20.15 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - ข่าววิศวกรโยธาหนุ่ม อนาคตสดใส จบชีวิตตัวเอง จากความสิ้นหวังต่อระบบราชการ ที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส และการทุจริตในหน่วยงาน สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมไทย จนเกิดคำถามถึงการปฏิรูประบบราชการ เหตุใดคนดีจึงอยู่ในระบบไม่ได้ ติดตามจากคุณสุธาทิพย์ ผาสุข

การทุจริตที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงานต้นสังกัด เป็นเหตุให้วิศวกรโยธา วัย 27 ปี เกิดความกดดัน เขียนจดหมายระบาย ก่อนตัดสินใจจบชีวิตด้วยการรมควันตัวเองภายในรถ ซึ่งครอบครัวติดใจ และทำให้องค์กรที่ทำงานด้านการปราบปรามการทุจริต ทั้งในส่วนของ ป.ป.ช. และ ปปท. เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง จนกระทั่งพบความผิดปกติงานโครงการที่มีชื่อของวิศวกรโยธารายนี้เป็นผู้ควบคุม ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน

เนื้อหาจดหมายที่ระบาย สื่อถึงความสิ้นหวัง การทุจริต หาเศษหาเลยจากโครงการ จนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งหนุ่มวิศวกรโยธาพยายามปรับตัวอยู่ให้ได้ แต่สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ จึงขอยื่นลาออก ก่อนตัดสินใจจบชีวิต ทำให้มีคำถามถึงการปฏิรูประบบราชการ ที่รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ทำไปถึงไหนแล้ว และได้ผลอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส ไร้ทุจริต ซึ่งในมุมมองของอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินว่า 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังสอบตก

สำหรับโครงการที่วิศวกรโยธารายนี้ รับผิดชอบควบคุมงาน พบว่ามี 4 โครงการ ใช้งบประมาณ รวมกว่า 2 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ ทาง ปปท. จะขยายผลการตรวจสอบการทุจริตเพิ่มเติม โดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ในการตรวจสอบการทุจริตเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน และรูปแบบการทุจริตที่เกิดขึ้น มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

แม้แต่กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งทำหน้าที่ไต่สวน ชี้มูลการทุจริตในหลายคดี ยังยอมรับกับคอลัมน์หมายเลข 7 ว่าปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้การทุจริตในสังคมไทยยังไม่ลดลงไปได้ เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่กระทำการทุจริต ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการภาครัฐ ที่อาศัยตำแหน่งหน้าที่ร่วมมือกับเอกชน รวมถึงอิทธิพลทางการเมือง

พลังและบทบาทสื่อมวลชน เป็นอีกประเด็นที่ กรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญโดยมองว่า การทุจริตจะลดลงได้ หากสื่อมวลชน เข้ามามีบทบาท ชี้เบาะแส ไม่ทน ไม่เฉย ต่อความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น

จากความสิ้นหวังของหนุ่มวิศวกรโยธา จนต้องจบชีวิตลง เป็นอีกหนึ่งบทเรียนให้ผู้เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริต ต้องคิดทบทวน เร่งสะสางกวาดล้างอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่ประกาศด้วยคำพูด แต่ไร้การปฏิบัติ และสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง