ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : อ่วม ดอกเบี้ยขาขึ้น พ่นพิษ

View icon 48
วันที่ 30 พ.ย. 2565 | 22.34 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - หลากหลายมุมมอง ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ก็ส่งผลให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ชัดเจนขึ้นตามไปด้วย ซึ่งวันนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็ได้ตัดสินใจขยับดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% 

อาจจะเรียกได้ว่า หลังจากนี้ น่าจะหมดยุคสินค้าราคาแพง ไม่ใช่เพราะการตรึงราคา แต่เพราะสินค้าหลายรายได้ปรับขึ้นราคาไปแล้ว คงจะยังไม่ขยับราคาขึ้นอีกในเร็ว ๆ นี้ แต่สิ่งที่ต้องเผชิญหน้าในด่านต่อไป คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

หลังจากที่หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะพอหายใจหายคอ ลืมตาอ้าปาก หลังคนไทยทั้งประเทศต้องเผชิญทุกภาวะเศรษฐกิจซบเซากันมามากพอแล้ว

ภาคเอกชนออกมาประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัว ภาคการเงินเอง อย่างธนาคารซิตีแบงก์ เชื่อว่า ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ ถึง 4.3% นั้น สิ่งที่ต้องเผชิญกันหลังจากนี้ คือ ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นซึ่งวันนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ก็ได้พิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ด้วยการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ซึ่งจะเป็นการขยับดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายในรอบปี

และเมื่อจำแนกผลกระทบ จากการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ออกมาคร่าว ๆ ได้ 2 ภาคใหญ่ คือ ภาคธุรกิจ และ ภาคประชาชน ที่น่าห่วงที่สุดคือ ภาคประชาชน เนื่องจาก ปัญหาคือ ภาระหนี้ครัวเรือนไทย ยังเป็นจุดอ่อนมาก ๆ ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งจากกราฟ หนี้ครัวเรือน ยังอยู่ในระดับ มากกว่า 88% หรือคนไทยเป็นหนี้รวมกันมากกว่า 14 ล้านล้านบาท ส่วนภาคธุรกิจ ที่น่าห่วงที่สุดคือ SME กลุ่มนี้ เริ่มผันแปรสู่วงจรหนี้เสีย ราว 9% ในอนาคตจะพอกพูนสู่กลุ่มหนี้ครัวเรือนด้วยเช่นกัน

นักการเงินคาดการณ์กันว่า แม้แบงก์ชาติเอง จะยังคงมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะไม่มีการขยับดอกเบี้ย ดังนั้น ภาพของการปรับดอกเบี้ยนโยบายราว 0.25% เชื่อว่า จะกลายเป็นวัฏจักรที่กินระยะเวลาพอสมควร กระทั่งชนเพดาน 2.25% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีหน้า วัฏจักรนี้ แน่นอนว่า ทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก และประชาชนที่เป็นหนี้ ปีหน้า ต้องรองรับความเสี่ยงไปตาม ๆ กัน

แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง คนที่ยังไม่มีหนี้ อย่ารีบก่อหนี้ ส่วนคนที่เป็นหนี้ ถอดใจไม่ได้ ยังมีโอกาส ธนาคารแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาแก้หนี้ ยาวไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคมปีหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง