ไขปริศนา นักเรียนสะดุดกระเป๋า ศีรษะฟาดขอบโต๊ะ เสียชีวิต

View icon 447
วันที่ 1 ธ.ค. 2565 | 06.26 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ขยายต่อกรณีของน้องภูผาที่เพียงแค่สะดุดกระเป๋าหกล้ม ศีรษะฟาดขอบโต๊ะ แต่สุดท้ายไม่ทันจะข้ามวันหลังเกิดอุบัติเหตุ ก็กลายเป็นเรื่องเศร้าของครอบครัว ซึ่งกรณีลักษณะนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง มีคำตอบว่า ทำไมถึงเสียชีวิตได้ และต่อไปหากลูก ๆ หลาน ๆ เกิดอุบัติเหตุกับศีรษะ จะต้องเฝ้าระวังอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำ เราไปไล่เรียงทีละประเด็นพร้อมกัน ๆ

ปมแรกที่หลายคนพอฟังข่าวของเด็กชายอายุ 4 ขวบ 6 เดือน อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า น้องล้มศีรษะฟาดกับขอบโต๊ะ แต่ไม่ทันจะข้ามวันหลังเกิดอุบัติเหตุ น้องก็เสียชีวิต

เรื่องนี้ กุมารประสาทศัลยศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ไขปมสงสัยนี้ว่า บริเวณกระโหลกศีรษะไม่ได้มีความหนาเท่ากันทั้งหมด หนำซ้ำบริเวณนี้ก็ยังเป็นจุดที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงอยู่จำนวนมาก บางครั้งกะโหลกศีรษะไม่ต้องแตก เพียงแค่หนังศีรษะบาดเจ็บจากแรงกระแทก แล้วเกิดเลือดไหลอยู่ภายในจำนวนมาก ก็เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้แล้ว

ก็ชัดเจนอย่างที่ คุณหมอบอกเมื่อครู่ ดูภายนอกไม่มีบาดแผล ไม่มีเลือดไหลออกมา แต่จริง ๆ แล้ว ภายในมีเลือดออกอยู่ปริมาณมาก และที่น้องภูผามีการค่อย ๆ ซึมลงไม่เหมือนเดิมสาเหตุก็มาจากปัจจัยนี้

แต่คุณผู้ชมอย่าเพิ่งตกใจ หากลูกหลานเกิดล้มหัวฟาด หรือ หัวไปโขกกับวัตถุแข็ง ๆ จนหัวโน ก็ไม่ได้หมายความทุกกรณีจะเสี่ยงต่อชีวิตทั้งหมด ซึ่งก็มีจุดสังเกตที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือ ผู้เลี้ยงเด็ก หากบุตรหลานหรือแม้แต่คนโต ๆ วัยผู้ใหญ่แล้ว เกิดอุบัติเหตุขึ้นบริเวณศีรษะ ก็ให้สังเกตอาการซึมลงเป็นอย่างแรก และมีอาการอาเจียนร่วมด้วยหรือไม่ หากไม่มีอาการเหล่านี้ก็ไม่น่าเป็นกังวล

แต่ก็ต้องย้ำกัน กรณีการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ จะแรงหรือไม่แรงนั้น ควรสังเกตอาการผู้บาดเจ็บอย่างจริงจังใน 24 ชั่วโมง ถ้ายังสดใส ไม่ซึม ไม่อาเจียนก็นับเป็นเรื่องดี และมีข้อแนะนำด้วยว่าหากเกิดอุบัติเหตุจนหัวโน ควรพักอย่างน้อย 6 สัปดาห์ แต่ถ้าถึงขั้นหัวแตกต้องพัก 3 เดือน ซึ่งต้องไม่ไปทำกิจกรรมผาดโผนเสี่ยงต่อการกระทบกระเทือน เพราะอาจบาดเจ็บซ้ำได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง