รมว.คลัง เดินหน้าจัดเก็บภาษีขายหุ้น สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษีทุกคน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ย้ำถึงเวลาเหมาะสม ตลาดทุนไทยแข็งแกร่งการจัดเก็บภาษีไม่กระทบตลาดทุนไทย ไม่กระทบการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สำคัญไม่ยกเว้นให้กับนักลงทุนรายใหญ่ตามที่เป็นข่าว
ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั้น
วันนี้ (2 ธ.ค.65) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวต้องการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษี และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ และช่วงเวลาในการกลับมาจัดเก็บภาษีธุรกิจเพาะดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังจากพักการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นมากว่า 30 ปี ซึ่งตอนนั้นมาเก็ตแคปในตลาดหลักทรัพย์มีอยู่แค่ 9 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันตลาดทุนของไทยเติบโตมากกว่าเดิมกว่า 22 เท่า หรือมีมาเก็ตแคปมากกว่า 20 ล้านล้านบาท มากกว่า จีดีพี.ของประเทศ ซึ่งเป็นตลาดทุนที่แข็งแกร่ง
ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรอ ยืนยันเช่นเดียวกันว่า การยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าวอาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้นจากร้อยละ 0.17 เป็นร้อยละ 0.22 แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.29 และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.38 แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.20 เล็กน้อย ทั้งนี้ ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ ร้อยละ 0.055 ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 0.195 ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว
“จากที่ได้มีการนำเสนอข่าวการเก็บภาษีหุ้น ว่าจะมีการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริง คือ มิได้ยกเว้นภาษีให้แก่ นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Market Maker ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่ข่าวได้นำเสนอ ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว