ปัญหาครอบครัว ความรัก การเรียน “วัยรุ่น หนุ่มสาววัยทำงาน” ซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ประเมินด้วยระบบ AI 7.2 หมื่นคน พบภาวะสุขภาพจิตอยู่ในระดับรุนแรงกว่า 5 พันคน คนใกล้ชิดต้องช่วยป้องกัน ทำร้ายตัวเอง คิดสั้นจบชีวิต
วัยรุ่นและหนุ่มสาววัยทำงาน มีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่า ขณะนี้มีรายงานสถานการณ์ทั่วโลกและการศึกษาในประเทศไทยที่พบว่า กลุ่มวัยที่อายุน้อย วัยรุ่น หรือวัยทำงานตอนต้น มีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายได้ เพราะมีหลายปัจจัยจากสถานการณ์โควิด-19 และภัยคุกคามอื่นๆ ที่ทำให้เยาวชนและวัยรุ่นต้องปรับการดำเนินชีวิต เช่น การใช้เวลาเรียนทำงานออนไลน์มากกว่าการพบปะเพื่อนและสังคมตามภาวะปกติ อาจทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ส่งผลทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ทั้งนี้ในบางคนแม้จะเครียดมากแต่พฤติกรรมภายนอกไม่แสดงออก แต่ในใจมีอาการดำดิ่งสู่ความเจ็บปวดอย่างรุนแรงจนนำไปสู่การตัดสินใจด้วยอารมณ์ที่นำมาซึ่งความเสียใจให้กับคนรอบข้าง เช่น ความกดดันของวัยเรียนที่กลัวว่าจะไม่สามารถทำตามความคาดหวังของครอบครัว นำไปสู่การทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย เพราะเข้าใจว่าการกระทำนั้นเป็นทางเลือกที่ต้องการเผชิญหน้าหรือรับมือแต่เพียงคนเดียว
ดังนั้นการช่วยเหลือเบื้องต้นที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีความรู้สึกหดหู่ให้มองด้านบวก นึกถึงคุณค่าของตนเอง ปล่อยวางความคิด ปรับวิธีคิดให้แตกต่างไปจากเดิมจะช่วยให้หาทางออกในการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น หากไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง การขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดหรือการรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญเป็นวิธีที่จะสามารถช่วยได้ โดยไม่ได้เป็นการสร้างภาระ เปรียบเหมือนการมองหาเข็มทิศ ช่วยต่อสู้กับความคิดของตนเอง เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ที่รุมเร้าได้
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า เมื่อมีปัญหาในการจัดการอารมณ์ หรือมีภาวะเครียด ซึมเศร้า ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจัดการอย่างไร สามารถเริ่มจากการประเมินสุขภาพใจได้ทาง www.วัดใจ.com ซึ่งเป็นการประเมินสุขภาพใจของตนเองผ่านแบบสอบถาม สามารถบอกได้เบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในระดับใดบ้าง ส่วนผู้ที่มีปัญหาชัดเจนเรื่องอารมณ์ซึมเศร้าหรือมีความคิดอยากทำร้ายตนเอง สามารถประเมินความเสี่ยงต่อซึมเศร้าหรือทำร้ายตนเองที่ปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อ Dmind ผ่านไลน์หมอพร้อม โดยเข้าไปที่ฟังชั่นคุยกับหมอพร้อม แล้วกดตรวจสุขภาพใจ จะได้พูดคุยและประเมินผ่านปัญญาประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่เสมือนกับคุณหมอ
ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.65 พบว่ามีจำนวนผู้เข้าใช้งานประเมินซึมเศร้าผ่านระบบ Dmind ทั้งหมด 72,610 คน พบว่าภาวะสุขภาพจิตอยู่ในกลุ่มระดับรุนแรง มีจำนวนถึง 5,427 คน ซึ่งจำนวนนี้ผู้ที่ยินยอมให้ติดตามช่วยเหลือสามารถดำเนินการได้ถึง 70.04%
ขณะที่การปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต1323 ช่วงเดือน ต.ค.64 ถึง ก.ย.65 ได้ให้บริการถึง 95,029 ราย โดยกลุ่มที่อายุ 12-18 ปี มีจำนวน 7,369 คน ซึ่งปัญหาที่ขอรับปรึกษามากที่สุด 3 ลำดับ คือ ปัญหาครอบครัว ความรัก และการเรียน ในขณะที่กลุ่มอายุ 18-29 ปี มีจำนวน 28,421คนและปัญหาที่ขอรับปรึกษามากที่สุด 3 ลำดับ คือ ปัญหาความรัก ครอบครัวและการทำงาน
กรมสุขภาพจิตขอเน้นย้ำว่า ทุกปัญหามีทางออกและสามารถแก้ไขได้เสมอ การเก็บสะสมไว้จนเกิดความเครียด ความทุกข์ จะยิ่งสร้างความรู้สึกที่แย่ลง การจบชีวิตหรือการตัดสินใจเพื่อใครนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดีและไม่ใช่สิ่งที่คนที่คุณรักต้องการ