ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ พบโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ CH.1.1 ในไทย 9 ราย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ พบโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ CH.1.1 ในไทย 9 ราย

View icon 639
วันที่ 4 ธ.ค. 2565 | 10.21 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาฯฯ พบโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ CH.1.1 ในไทยแล้ว 9 ราย  เป็นสายพันธุ์ลูกของ BA.5 และ BA.2.75 ดุกว่า แพร่เร็วกว่า 135-150% น่าจะมาแทนที่ BA.5 และ BA.2.75 ทั่วโลกเฝ้าระวัง จับสายพันธุ์นี้ที่ระบาดอยู่หลายประเทศ  ล่าสุดในไทยตรวจพบเกือบทุกสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก  ประมาทไม่ได้ต้องกลับมาเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่เคยระบาดดั่งเดิมอย่างเข้มข้น

(วันนี้ 4 ธ.ค.65) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี  ได้โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ว่า สิ่งที่ต้องจับตาในไทยล่าสุดคือ โอมิครอน  CH.1.1 ซึ่งเป็นรุ่นลูกของ BA.2.75 เนื่องจากในประเทศไทย CH.1.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)  เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 135% และเหนือกว่า BA.2.75* ประมาณ 150% ทำให้มีแนวโน้มที่ CH.1.1 อาจระบาดมาแทนที่ BA.5 และ BA.2.75 ได้  ซึ่งขณะนี้พบโควิดสายพันธุ์ CH.1.1 ในไทยแล้ว 9 ราย

การศึกษาธรรมชาติการกลายพันธุ์ไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างสวอปผู้ติดเชื้อทั้งในประเทศและระหว่างทวีป อัปโหลดไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “กิสเสด(GISAID)” จำนวนกว่า “14 ล้านราย” ในขณะนี้ชี้ให้เห็นถึงการอ่อนกำลังลงของโอมิครอนรุ่นที่หนึ่ง “BA.4 และ BA.5” อย่างต่อเนื่องพร้อมเผยให้เห็นถึงการแข่งขันระหว่างสายพันธุ์โอมิครอนรุ่นที่สอง BA.2.75* (BN.1, CH.1.1), รุ่นที่สาม BQ.1*, และรุ่นลูกผสม XBB* และ XBF รวมถึงผลกระทบที่(อาจ)จะเกิดขึ้นในปีหน้า 2566 ตำแหน่งกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามส่วนหนึ่งทำนายได้ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ว่าจะก่อความรุนแรงหรือไม่ ในขณะที่การกลายพันธุ์อีกหลายตำแหน่งไม่อาจวิเคราะห์ได้ว่าจะลดหรือเพิ่มความรุนแรงของการติดเชื้อ

สำหรับประเทศไทยหลายองค์กรทั้งภาครัฐ NGO และเอกชนได้ร่วมกันถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมจำนวนกว่า 32,938 ราย (3/12/2565) ได้ตรวจพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยเกือบทุกสายพันธุ์ที่ทั่วโลกพบ กล่าวคือ BA.2.75* (BA.2.75, BA.2.75.2,BA.2.75.5), XBB* (XBB, XBB.1, XBB.1.1)  BQ.1*(BQ.1, BQ.1.1), BN.1, BF.7, XBC, และ CH.1.1

4 ปัจจัยที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเริ่มกังวลกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย CH.1.1 ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศออสเตรีย
1. พบตำแหน่งกลายพันธุ์บริเวณส่วนโปรตีนหนาม “P681R” ของโอมิครอน CH.1.1 เช่นเดียวกับที่พบในสายพันธุ์เดลตา ซึ่งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อมีอาการรุนแรงเช่นเดียวกับสายพันธุ์เดลตา   เนื่องจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าส่วนหนามที่กลายพันธุ์ไปสามารถจับกับผิวเซลล์จากอวัยวะอื่นได้หลากหลายนอกเหนือไปจากเซลล์ปอด ทั้งยังก่อให้เกิดการหลอมรวมของเซลล์ที่อยู่ใกล้ชิดติดกันเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ (fusogenicity) ดึงดูดให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้ามาทำลายเกิดอาการอักเสบที่รุนแรงขึ้น
2. พบการกลายพันธุ์ในส่วนโปรตีนหนาม R346T, K444T, L452R, และ F486S ไปคล้ายกับโอมิครอนรุ่นที่ 3 “BQ.1.1” 
3. พบการระบาดของโอมิครอน CH.1.1 ได้อย่างรวดเร็ว โดยมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า XBB* และ BQ.1.1 (ที่ทั่วโลกถือว่าระบาดได้รวดเร็วที่สุดในปัจจุบัน)ถึง 39% และ 31% ตามลำดับ(ภาพ4)
4. เกิดการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามในส่วนของ N-terminal domain (NTD), “NTD” บนส่วนหนามแหลมถือว่าเป็นบริเวณสำคัญ (hot spot) ที่แอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการกระตุ้นด้วยการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติจะเข้าจับและทำลายไวรัส  หากโปรตีนหนามบริเวณ “NTD” กลายพันธุ์ไปจะส่งเสริมให้ไวรัสหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูลจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “กิสเสด” พบโอมิครอน CH.1.1 ในหลายประเทศโดยเริ่มต้นการระบาดมาจากประเทศออสเตรีย
• ออสเตรีย จำนวน 150 ราย  ติดเป็น 0.209%
• ประเทศอังกฤษ จำนวน 137 ราย คิดเป็น 0.088%
• ออสเตรเลีย จำนวน 129 ราย คิดเป็น 0.246%
• สหรัฐ 74 ราย คิดเป็น 0.011%
• เดนมาร์ก จำนวน 54ราย คิดเป็น 0.060%
• ฮ่องกง จำนวน 27 ราย คิดเป็น 0.516%
• ญี่ปุ่น จำนวน 26 ราย คิดเป็น 0.017%
• เกาหลีใต้ จำนวน 20 ราย คิดเป็น  0.051%
• เนเธอร์แลนด์ จำนวน 17 ราย คิดเป็น 0.070%
• อินเดีย  จำนวน 16 ราย คิดเป็น 0.047%
• ลิกเตนสไตน์ จำนวน 13 ราย  คิดเป็น 3.171%
• อิสราเอล จำนวน 11 ราย คิดเป็น 0.020%
• สิงคโปร์ จำนวน 10 ราย คิดเป็น 0.110%
• ประเทศไทย จำนวน 9ราย คิดเป็น 0.188%

จากการติดตามธรรมชาติการกลายพันธุ์ไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมมาร่วม 3 ปี ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกสรุปว่า
1. จำเป็นต้องติดตามกลุ่มโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย (omicron soup variants) ที่อุบัติขึ้นและระบาดพร้อมกันมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2565  เพราะหลายสายพันธุ์ย่อยมีการกลายพันธุ์โดยเฉพาะบริเวณโปรตีนหนามที่ “อาจ” ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น BA.2.75, BQ.1,BN.1, BF.7,CH.1.1
2. ต้องกลับมาเฝ้าระวังไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์เก่าหลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์หวู่ฮั่นดั้งเดิม, อัลฟา, เบตา, เดลตา, แกมมา ฯลฯ ที่พบหมุนเวียนอยู่ ในตัวผู้ติดเชื้อบางกลุ่ม เสมือนแหล่งเก็บกัก (reservoir) เช่นผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ประกอบกับมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เช่น การ ลด ละ เลิกการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ  การเว้นระยะห่างทางกายภาพ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้สายพันธุ์ดั้งเดิมที่สูญหายไปแล้วอาจกลับมาปรากฏตัวได้อีกครั้ง
3. ไม่ประมาทต่อการเกิดสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างไวรัสตระกูลเก่า (หวู่ฮั่นดั้งเดิม, อัลฟา, เบตา, เดลตา) กับไวรัสตระกูลใหม่ (โอมิครอน) เช่น เดลตาครอน XBC
4.  ติดตามการเกิดสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อยในตระกูลเดียวกัน (omicron soup variants) เช่น โอมิครอน XBB ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง โอมิครอน BJ.1 x BA.2.75 
5. พยายามควบคุมการแพร่ระบาดจากคนไปสู่สัตว์ อันจะก่อให้เกิดเป็นแหล่งเก็บกักโรค(reservoir) และเพาะบ่มให้เกิดไวรัสกลายพันธุ์ในสัตว์ที่ปราศจากแอนติบอดีมายับยั้ง และแพร่กลับมาติดต่อสู่คนอีกครั้ง ซึ่งเริ่มเห็นบ้างในกลุ่มกวางในแคนาดาและอเมริกาที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากคน จากนั้นพบมีการแพร่จากกวางกลับมาสู่คน
6. การตรวจวินิจฉัยด้วย ATK ยังใช้ได้ดีเนื่องจากเป็นการตรวจส่วนประกอบไวรัสหลายส่วนนอกเหนือไปจากโปรตีนหนาม
7. ต้องหมั่นตรวจสอบประสิทธิภาพการตรวจจับไวรัสของชุดตรวจ PCR เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์บนสายจีโนมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity)ในการตรวจจับไวรัสในสิ่งส่งตรวจของ PCR อาจลดลง  
8. ไม่ควรลดการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนม เพราะจะให้เราขาดข้อมูลของสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในบ้านเราแบบเรียลไทม์ ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคโควิด
9. เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทั้งจากยาเม็ดรับประทานและยาฉีด ด้วยการตรวจรหัสพันธุกรรม (genotyping & sequencing) เพื่อตรวจสอบสายพันธุ์และตำแหน่งกลายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยา (anti-SARS-CoV-2 drugs) (ภาพ7)
10. จัดลำดับโควิดสายพันธุ์ย่อยที่กำลังระบาดหรือมีแนวโน้มจะระบาดภายในประเทศโดยอาศัยข้อมูลรหัสพันธุกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกัน ด้านวัคซีนและยาต้านไวรัสให้สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่ระบาด

WHO สรุปว่าปลายปีนี้ต่อปีหน้า 2566 ยังคงต้องตรวจ PCR และสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรคและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต (COVID genomic surveillance) อย่างเข้มข้น พร้อมไปกับการเรียนรู้ผลกระทบระยะยาวที่ประชาชนสัมผัสกับไวรัส SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปีที่จะชัดเจนมากขึ้น รวมถึงผลกระทบของการติดเชื้อซ้ำแม้จะฉีดวัคซีนป้องกัน (breakthrough infection) ที่เรียกว่า " ไม่รุนแรง (mild)" รวมถึงประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะวัคซีนสองสายพันธุ์ (bivalent vaccine)