ร้องเอาผิด แอปฯ ขายสินค้าออนไลน์ ดูดเงินในบัญชี

View icon 219
วันที่ 7 ธ.ค. 2565 | 06.05 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย ร้องเอาผิดแอปพลิเคชันขายสินค้าออนไลน์ หลังพบว่า บัญชีธนาคารที่ผูกไว้กับแอปฯ ถูกดูดเงินออกไป โดยที่ไม่ได้สั่งซื้อสินค้า รวมมูลค่าความเสียหายเกือบ 1 ล้านบาท

ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการผู้บัญชีสั่งซื้อสินค้ากับแอปพลิเคชัน Shopee เข้าร้องทุกข์ต่อ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เพื่อปรึกษาหาแนวทางในการดำเนินคดี หลังมีผู้เสียหายหลายคน ผู้บัญชีธนาคารไว้กับแอปฯ Shopee แล้วถูกดูดเงินออกไป โดยที่ยังไม่ได้สั่งซื้อสินค้า เบื้องต้นทางกลุ่มผู้เสียหาย ต้องการเอาผิดตามกฎหมาย และต้องการเงินคืนตามยอดที่ถูกดูดออกไป

ผู้เสียหายคนหนึ่ง เล่าว่า ตนเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย จำเป็นต้องผูกบัญชีไว้กับแอปฯ ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เวลาประมาณ 17.00 น. ตนเข้าไปเช็กยอดเงินในบัญชีธนาคาร พบว่า ยอดเงินหายไป จึงโทรศัพท์ไปเช็กกับทางธนาคาร ทราบว่า บัญชีของตนถูกแอปฯ Shopee หักเงินไป เป็นยอดเงิน 11,400 บาท รวมรายการสั่งซื้อ 4 รายการ

หลังจากนั้น จึงสอบถามกลับไปยังแอปฯ Shopee มีเพียงคอลเซ็นเตอร์รับแจ้งเหตุ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ล่าสุดผ่านมาเกือบ 1 เดือนแล้ว จึงรวมกลุ่มกับผู้เสียหายคนอื่น ๆ เข้าร้องทุกข์ รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 993,000 บาท

หลังจากนั้น กลุ่มผู้เสียหายเดินทางเข้าพบผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 หรือ บก.สอท.1 เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากการกระทำดังกล่าว เป็นแฮกข้อมูลเข้าระบบโดยมิชอบ มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย และวันนี้ (7 ธ.ค.) กลุ่มผู้เสียหายจะเดินทางไปร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินการเอาผิดต่อไป

ขณะที่ นายปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ระบุว่า การซื้อของผ่านระบบออนไลน์ในปัจจุบัน มีช่องโหว่ให้ แฮกเกอร์ จู่โจม ดูดเงินในบัญชีออนไลน์ได้หลายช่องทาง ทั้งจากบัญชีธนาคาร ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ช หรือผ่านโทรศัพท์มือถือ

จึงเสนอแนวทางป้องกัน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ คือ เวลาสั่งซื้อของออนไลน์ ให้เลือก ชำระเป็นเงินสดปลายทาง เป็นวิธีที่ดีที่สุด หรือชำระโดยอีวอลเลท ที่ไม่ได้ผูกกับบัญชีธนาคาร ที่สำคัญไม่ควรผูกบัญชีบัตรเดบิต ให้เปลี่ยนเป็นบัตรเครดิตแทน เวลาจะตรวจสอบหรือปฏิเสธการชำระเงิน กรณีถูกแฮกบัญชี ก็สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าจำเป็นต้องผูกบัญชีธนาคารกับแอปพลิเคชันซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ต่าง ๆ ขอให้ใช้วิธีเปิดบัญชีธนาคารใหม่ และใช้วิธีการโอนเงินในวงจำกัด ก่อนทำธุรกรรมในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันความเสียหาย ส่วนบัญชีหลักอย่างบัญชีเงินเดือน ห้ามผูกบัญชีกับอีคอมเมิร์ชเด็ดขาด

ทางด้านสถาบันการเงิน ก็มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้าง ธนาคารออมสิน จึงได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพ หลอกให้กดลิงก์เพื่อกู้เงิน โดยแอบอ้างใช้ชื่อ "สินเชื่อ GSB ออมสิน" "My Mo ออมสิน" ตลอดทั้งใช้โลโก้ธนาคาร ส่งข้อความในรูปแบบลิงก์ SMS Line หรือ Facebook เข้ามือถือของลูกค้าและประชาชนจำนวนมาก ใช้ข้อความเชิญชวน กระตุ้นให้กดรับสิทธิ หรือกดลิงก์เข้าไป ธนาคารเตือนว่าอย่าหลงเชื่อ อย่ากดลิงก์ และไม่เพิ่มเพื่อน หรือกรอกข้อความใด ๆ เด็ดขาด ย้ำว่าธนาคารไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลจากลูกค้าในสื่อสังคมออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง