ภาษีหุ้น

ภาษีหุ้น

View icon 93
วันที่ 8 ธ.ค. 2565 | 15.45 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เมื่อรัฐจัดเก็บภาษีหุ้น อะไรจะเกิดขึ้น

จากข่าวที่กระทรวงการคลังจะเก็บภาษีหุ้น หลังที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ให้มีการจัดเก็บภาษีจากมูลค่าการขายหุ้น โดยในปี 2566 จะจัดเก็บในอัตรา 0.055% และในปี 2567 จะเริ่มจัดเก็บในอัตรา 0.11% (2 เท่าของปี 2566) โดยให้เหตุผลว่ามีการยกเว้นภาษีมานานกว่า 30 ปี และการจัดเก็บภาษีหุ้นจะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และสร้างความยั่งยืนให้แก่ภาครัฐ

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การจัดเก็บภาษีในรูปแบบนี้ เวลานี้ มีความไม่เหมาะสมนัก และอาจไม่ได้ทำให้เกิดความยั่งยืนดังที่ภาครัฐตั้งใจไว้

ประเด็นแรก คือ การเก็บภาษีหุ้นในลักษณะแบบนี้ ละเลยต้นทุนการขายหุ้น เช่น ราคาซื้อหุ้น ค่าธรรมเนียมซื้อและขายหุ้น ในขณะที่การเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ล้วนมีการจัดเก็บภาษีรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย

>> แต่การเก็บภาษีหุ้นในลักษณะตามร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ กำลังมองว่าราคาขายหุ้นเสมือนเป็นดอกเบี้ย

การเก็บภาษีดอกเบี้ยมีการคำนวณภาษีในรูปอัตราร้อยละของดอกเบี้ยที่ได้รับทั้งหมด โดยผู้ได้รับดอกเบี้ยไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการได้รับดอกเบี้ย จึงไม่มีการนำต้นทุนมาหักออกจากฐานภาษี

>> ในความเป็นจริง ก่อนผู้ลงทุนจะถือหุ้นได้ ต้องซื้อหุ้นมา และต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ

การลงทุนในหุ้นจึงมีค่าใช้จ่าย หลักการคิดภาษีหุ้นจึงควรคิดจากรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายนับตั้งแต่การถือหุ้น ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เกิด ณ การขายหรือในปีที่ขายเท่านั้น

>> แม้อัตราภาษีที่จะจัดเก็บนั้นค่อนข้างต่ำ เพื่อทดแทนประเด็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้ แต่ไม่สามารถอธิบายกรณี ที่นักลงทุนขายหุ้นเมื่อราคาขายต่ำกว่าราคาซื้อ หรือขายเพื่อลดการขาดทุน ซึ่งจะเป็นกรณีที่นักลงทุนนอกจากจะขาดทุนการขายแล้วยังต้องจ่ายภาษีให้ภาครัฐด้วย

ประเด็นที่สอง คือ การเก็บภาษีหุ้นในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนและอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้เกิดการหดตัวของการลงทุนในภาคเอกชน

>> การเก็บภาษีทำให้เกิดต้นทุนการขายหุ้นเพิ่มขึ้นเท่ากับอัตราภาษี การขายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อราคาขายมีส่วนต่างจากราคาหุ้นที่ซื้อมาเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนจัดเก็บภาษี ในขณะที่ผู้ซื้อต้องซื้อหุ้นในราคาที่สูงขึ้นกว่าก่อนการจัดเก็บภาษี ส่งผลให้ปริมาณความต้องการซื้อและขายในตลาดลดลง ตลาดมีสภาพคล่องลดลง

>> เมื่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นของไทยลดลง นักลงทุนรายย่อยย่อมขาดความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในตลาด เพราะเมื่อซื้อหุ้นแล้ว จะขายหุ้นได้ยากกว่าเดิม และอาจเจอกับค่าธรรมเนียมจากตัวแทนต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นหลังมีการจัดเก็บภาษีหุ้นในลักษณะนี้ แถมต้องวุ่นวายกับการจ่ายภาษี นักลงทุนต่างประเทศก็จะหันไปลงทุนกับตลาดหุ้นอื่นที่มีต้นทุนการซื้อขายที่ต่ำกว่า

>> โดยทั่วไปแล้ว กองทุนต่างๆ ที่มีการลงทุนในหุ้น จะต้องมีการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้ง เพื่อทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นและสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้อย่างเพียงพอ หากมีการจัดเก็บภาษีหุ้นจะทำให้กองทุนต่าง ๆ มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ปริมาณการซื้อขายเพื่อทำกำไรน้อยลง ผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับก็จะลดลง

ในขณะที่รัฐพยายามส่งเสริมการออมภายในประเทศ โดยเฉพาะการออมระยะยาวเพื่อวัยหลังเกษียณอายุ ผ่านการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเน็จบำนาญต่างๆ กองทุน SSF และกองทุน RMF การเก็บภาษีหุ้นจะลดแรงจูงใจในการถือหน่วยลงทุนเหล่านี้ แม้ว่าผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ได้มีการสลับหรือขายกองทุนจนครบอายุ แต่เนื่องจากกองทุน SSF และ RMF จะมีต้นทุนการบริหารกองทุนสูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนจากการถือหน่วยลงทุนในกองทุนเหล่านี้ต่ำลง และในที่สุดมาตรการการออมระยะยาวนี้ก็จะมีประสิทธิภาพลดลง

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ การเก็บภาษีหุ้นทำให้การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี คุณภาพสินค้าและบริการ และการขยายตลาดทำได้ยากขึ้น และนี่เองจะส่งให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดต่ำลง

>> การเก็บภาษีทำให้ตลาดหุ้นมีสภาพคล่องลดลง มีต้นทุนทางธุรกรรมสูงขึ้น ส่งผลให้ระดมทุนผ่านตลาดหุ้นได้ยากขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในขาลง มีความผันผวนและไม่แน่นอนอยู่นั้น การสร้างอุปสรรคในการลงทุนและระดมทุน เช่น การจัดเก็บภาษีหุ้น จะทำให้เม็ดเงินต่างชาติไหลออก ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนในประเทศลดลง

>> การพัฒนาในอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องใช้งบประมาณลงทุน เมื่อเม็ดเงินในตลาดทุนลดลง ระดมทุนได้น้อยลง การพัฒนาย่อมเกิดขึ้นได้น้อยลง

ประเทศไทยยังอยู่ในระดับของประเทศกำลังพัฒนา การวิจัยและพัฒนาการผลิต เทคโนโลยี ระบบการบริหารจัดการ และการขนส่ง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยังคงมีความสำคัญอยู่มาก และการวิจัยและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงิน

>> ในภาวะที่รัฐมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น มีระดับการใช้จ่ายและภาระดอกเบี้ยสูงขึ้น การเร่งเก็บรายได้เป็นเรื่องจำเป็น แต่หากเก็บภาษีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระทบต่อการพัฒนาจะทำให้ประเทศไม่สามารถเติบโตได้ เมื่อประกอบกับการซื้อขายในตลาดหุ้นลดลง และสภาพคล่องและเม็ดเงินที่ลดลงทำให้ราคาหุ้นไม่สามารถเติบโตได้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีหุ้นและภาษีรายได้อื่นๆ ก็จะลดลงเรื่อยๆ นั่นหมายถึง รัฐอาจไม่บรรลุแผนความยั่งยืนทางการคลังอย่างที่ตั้งใจไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง