ข่าวภาคค่ำ - วันต่อต้านคอร์รัปชันสากลปีนี้ หลายภาคส่วนร่วมจัดกิจกรรมต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ขณะที่ภาคการเมืองตื่นตัวมากขึ้น เสนอแนวคิดปราบโกง ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ไม่ทนต่อการโกง ทุกภาคส่วนร่วมต้านทุจริต
ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ร่วมจัดกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ภายใต้แนวคิด "ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง" พร้อมร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ และประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำว่าปัญหาการทุจริตเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย โดยเฉพาะการซื้อขายตำแหน่ง การจัดซื้อจัดจ้าง และการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ บรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และออกกฎหมายที่เป็นรูปธรรม ปิดช่องทางของการเรียกรับสินบน
นายกรัฐมนตรี ย้ำบนเวทีว่า ตนเองไม่เคยทุจริต และจะเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทุกคนโดยไม่ละเว้น และจะไม่ให้รัฐบาลเกิดการทุจริตเชิงนโยบายอย่างเด็ดขาด
หลายพรรคการเมือง ตื่นตัวร่วมต้านคอร์รัปชัน
ด้านพรรคการเมือง ต่างจัดกิจกรรมต้านโกงเช่นกัน พรรคไทยสร้างไทย เคาะ 8 ยุทธศาสตร์ปราบทุจริตผ่าน "สุดารัตน์โมเดล" โดยเห็นว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันต้องเริ่มจากผู้นำประเทศที่จริงใจในการแก้ปัญหา และผู้บริหารทุกระดับต้องพร้อมถูกตรวจสอบ รวมถึงต้องนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ป้องกันการโกง
พรรคก้าวไกล เสนอนโยบายปราบคอร์รัปชัน ด้วยการปฏิรูประบบราชการให้เป็น "ราชการเพื่อราษฎร" ที่มีความเข้มแข็ง รวดเร็ว และเป็นราชการที่ดี ผ่าน 3 ป. ที่ไม่ได้หมายถึง 3 ป. ในขณะนี้ คือ ต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และปกป้องประชาชน รวมทั้งต้องนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้เพื่อตรวจสอบด้วย
ขณะที่ เวทีเสวนา "ถึงเวลาหยุดคนโกง หยุดงบประมาณรั่วไหล" ที่จัดขึ้นโดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้ย้ำว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันต้องเริ่มที่ความโปร่งใส โดยเฉพาะในการทำงานของข้าราชการและนักการเมือง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ นโยบายปราบทุจริตจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะทำให้ประชาชนจะเลือกพรรคการเมือง