ข่าวเด็ด 7 สี

จับตา เพื่อไทย เปิดนโยบายขึ้นค่าแรง แรงงาน 600 บาท/วัน - ป.ตรี 2.5 หมื่นบาท/เดือน

ข่าวเด็ด 7 สี - ขยายประเด็นดังวันนี้ เป็นเรื่องทอล์คออฟเดอะทาวน์ ตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีของพรรคเพื่อไทย

มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์กันอย่างไร ขึ้นค่าแรงกันระดับไหน ถึงกลายเป็นเรื่องอึกทึกครึกโครมขนาดนี้ คุณปราโมทย์ คำมา จะขยายประเด็นนี้ให้ฟัง

คุณนันทิพัฒน์ คุณผู้ชมครับ สัปดาห์นี้ ผมมีประเด็นดังที่จะมาขยายให้ฟัง เรียกว่าอยู่ในกระแสมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ กับนโยบายที่พรรคเพื่อไทย เปิดตัวออกมา ขายฝันให้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 และปริญญาตรี  25,000 บาทต่อเดือน ส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์กันขรมเลยทีเดียว มีแง่มุมอะไรให้ติดตาม มีเรื่องไหนมาชวนสังคมขบคิด ไปติดตามกันเลย

จับตา เพื่อไทย เปิดนโยบายขึ้นค่าแรง  แรงงาน 600 บาท/วัน - ป.ตรี 2.5 หมื่นบาท/เดือน
เรียกว่าเป็นการขยับขายฝันพรรคแรก ๆ เลย สำหรับเพื่อไทย ส่วนจะปังหรือจะพัง คงอยู่ที่ประชาชนจะตัดสิน โดย 10 นโยบายที่เปิดออกมา ที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์หนักคือ นโยบายประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ปริญญาตรี 25,000 บาท/เดือน จนถูกนายกรัฐมนตรี ถามกลับ จะเอาเงินมาจากไหน

เทียบนโยบายขึ้นค่าแรง แบบก้าวกระโดด 2 สาว ชินวัตร
ความจริงนโยบายขึ้นค่าแรง-เงินเดือนปริญญาตรี แบบก้าวกระโดด ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เคยผลักดันกันตั้งแต่ยุคคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งกว่าจะขึ้น 300 บาทได้ตามนโยบายก็ใช้เวลาเกือบหนึ่งปี ผลกระทบที่ตามมาคือ SME ตกที่นั่งลำบาก ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ แก้ปัญหาด้วยการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน จากนั้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำก็ถูกแช่แข็งที่ 300 บาท ไม่ได้ขยับขึ้นนานถึง 5 ปี ก่อนจะปรับเป็น 300- 310 บาทต่อวัน ในปี 2560

การจะปรับค่าแรงขึ้นถึงเกือบเท่าตัวเป็น 600 บาท จากในปัจจุบันเริ่มต้นที่  328 บาท ถึง 354 บาท ต่อวัน ถ้าเทียบยุคคุณอาปู กับคุณอุ๊งอิ๊ง ถือว่ายังมีความแตกต่างกันอยู่ เพราะในปี 2554 นโยบายบอกจะปรับค่าแรง ไม่มีระยะเวลากำกับ ทำให้ถูกทวงถามอยู่ตลอดเวลา

แต่ยุคหลานสาวมีความซับซ้อนกว่า เพราะเพิ่มเงื่อนไขว่า 600 บาท กับ 2 หมื่นห้าพันบาทนี่ ต้องรอบริหารประเทศ 4 ปีนะ คือถึงปี 2570 จึงจะได้เห็น แต่ถ้ามีโอกาสได้บริหารประเทศ แล้วอยู่ไม่ครบ 4 ปี ทั้งค่าแรงและเงินเดือนปริญญาตรี ยังขยับไปไม่ถึงที่หาเสียงไว้ ก็ไม่ถือว่าผิดคำสัญญา เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การเมือง ที่นักวิชาการเตือนว่าประชาชนต้องรู้ให้เท่าทันก่อนหย่อนบัตรลงคะแนนด้วย เพราะหลังจากนี้ จะมีนโยบายขายฝันของพรรคการเมือง ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องแน่นอน

เอกชนเซ็ง ค่าแรง 600 บาท/วัน กระทบหลายมิติ
ขณะที่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย ออกอาการเซ็งเลย เพราะพวกเขาต้องเป็นผู้จ่ายเงิน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อคราวก้าวกระโดดเป็น 300 บาทต่อวัน ก็สะเทือนซางกันไปรอบหนึ่งแล้ว มาเที่ยวนี้คนพูด ๆ ง่าย แต่คนต้องจ่าย ได้แต่นั่งกุมขมับ เพราะถ้าขึ้น 600 บาท/วันจริง ต้นทุนภาคธุรกิจจะเพิ่มขึ้นเกือบ 70 % เลยทีเดียว

ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจจึงตั้งโต๊ะแถลงข่าว สะท้อนปัญหากันถึงผล กระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจเอสเอ็มอี ภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่จะพุ่งแบบฉุดไม่อยู่ ซึ่งผมก็ได้ไปคุยกับ ดร.ธนิต โสรัตน์ ในฐานะรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย บอกว่า เรื่องที่น่าห่วงคือ การลงทุนของเอกชนที่อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่า เพราะผู้ประกอบการต้องเพิ่มขึ้นกว่า 70%

อีกทั้งอาจจะกลายเป็นการทำลายกลไก  ไตรภาคีที่มีการคุยกัน 3 ฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ ที่เขาอยู่กันมากว่า 30 ปีแล้ว แล้วปัญหาจะตามมาในอนาคต ส่วนประเด็นปริญญาตรี 25,000 บาท มองว่าอาจทำให้คนตกงานมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ เนื่องจากหลายงานในทุกวันนี้ ไม่จำเป็นต้องนำปรัญญาตรีมาใช้ด้วยซ้ำ

ผู้ใช้แรงงานไม่มั่นใจ ค่าแรง 600 บาท/วัน จะทำได้จริง
แม้จะมีเสียงทักท้วงมาแบบนี้แล้ว แต่ทางพรรคเพื่อไทย ก็ยังยืนยันเดินหน้านโยบายนี้ต่อ ส่วนประชาชนจะตอบรับกันแค่ไหน คงต้องรอดูหลังเลือกตั้งครับ

ไปดูในมุมของผู้ใช้แรงงานกันบ้าง ที่ผมไปลงพื้นที่สอบถามมา บางคนก็มีความหวังบางคนก็ถอดใจตั้งแต่ตอนนี้เลย บอกว่ามองตามความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้

คราวนี้เรามาดูข้อมูลย้อนหลังกันหน่อยครับว่า ในการหาเสียงครั้งที่ผ่านมา เมื่อปี 2562 พรรคการเมืองขายฝันอะไรกันไว้บ้าง เกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ

เทียบนโยบายค่าแรง ปี 62 คำสัญญาที่ทำไม่ได้
ผมนำข้อมูลมาฝากทั้งหมด 5 พรรคการเมือง ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เริ่มกันที่พรรคแกนนำรัฐบาลก่อนครับ ทั้งพลังประชารัฐกับภูมิใจไทย ตัวเลขเดียวกันเลยครับคือ 425 บาท/วัน

แต่พลังประชารัฐ จะมีมากกว่าคือ มีนโยบายเงินเดือนอาชีวศึกษาที่ 18,000 บาท/เดือนด้วย ส่วนประชาธิปัตย์ ไม่ได้มาเป็นตัวแลข ใช้เป็นการประกันรายได้ขั้นต่ำที่ 120,000 บาทต่อปี หารเฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 400 บาทต่อวัน ซึ่งก็เป็นตัวเลขเดียวกับนโยบายของเพื่อไทย ซึ่งชูประเด็นไว้ที่ 400 บาทต่อวัน  แต่ผ่านมาเกือบสี่ปี คำสัญญาจากการหาเสียงยังทำไม่ได้ โดยค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 354 บาทต่อวันเท่านั้น

จากข้อมูลที่ผมรวบรวมมา จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นฐานสำคัญที่พรรคการเมือง มุ่งหมายจะโกยคะแนนมาเป็นของตัวเอง ซึ่งก็ต้องบอกว่า หาเสียงน่ะง่าย แต่ทำจริงมันยาก โดยบทพิสูจน์ตลอดเกือบสี่ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ กลายเป็นคำสัญญาที่ไม่เป็นจริง และนี่ก็คือการขยายประเด็นดัง จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ที่ผมรวบรวมมาฝากคุณผู้ชมในสัปดาห์นี้ คุณนันทิพัฒน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง