ผ่าพิสูจน์ "ข้ามแดน" ลูกเสือโคร่งของกลาง จ.อุบลราชธานี

View icon 890
วันที่ 22 ธ.ค. 2565 | 06.24 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ทีมสัตวแพทย์ จังหวัดอุบลราชธานี ตัดชิ้นเนื้อและอวัยวะน้อง "ข้ามแดน" ลูกเสือโคร่ง ที่ตรวจยึดได้จากแก๊งลักลอบค้าสัตว์ป่า ส่งพิสูจน์หาสาเหตุการตายแล้ว ขณะที่ลูกเสือโคร่งอีก 3 ตัว ยังไม่มีความผิดปกติ แต่พบก๊าซในกระเพาะอาหาร จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างภูมิต้านทาน

ลูกเสือโคร่ง เพศผู้ ชื่อ "ข้ามแดน" ที่ตรวจยึดได้จากการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ที่จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ตายแล้ว ขณะนำมาอนุบาลไว้ที่คลินิกสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทีมสัตวแพทย์และพี่เลี้ยง พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว

จากการสอบถามถึงสาเหตุ ทราบจากผลการเอ็กซเรย์เบื้องต้น พบว่าลูกเสือโคร่งมีอาการปอดอักเสบ คาดว่าน่าจะเกิดจากสภาพอากาศเย็นในช่วง 3-4 วันนี้ และยังพบว่าช่องท้องมีก๊าซจำนวนมาก อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ "ข้ามแดน" ตาย

เมื่อวานนี้ ทีมสัตวแพทย์ได้ตัดชิ้นเนื้อและอวัยวะส่งห้องแล็บเพาะเชื้อหาสาเหตุการตาย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

ส่วนลูกเสือโคร่งอีก 3 ตัว ที่อายุไล่เลี่ยกัน ได้แก่ ข้ามโขง เพศผู้ และ สะหวัน กับ มุกดา เพศเมีย ถูกนำตัวไปเอ็กซเรย์ พบว่าปอดยังเป็นปกติ แต่ภายในช่องท้องเริ่มมีก๊าซในกระเพาะอาหารบ้างแล้ว จำเป็นต้องลดปริมาณนมที่ให้ในแต่ละครั้งลง แต่จะเพิ่มความถี่ในการให้ และหลังการกินนม ก็จะให้ทั้ง 3 ตัว มีกิจกรรมพาออกไปเดินเล่นมากขึ้น เพื่อให้มีภูมิต้านทาน

สำหรับ "ข้ามแดน" น่าจะเป็นลูกเสือโคร่งที่มีอายุมากสุด เพราะขนาดและลักษณะของฟันยาวกว่าตัวอื่น ๆ และน้ำหนักตัวจะมากกว่า ซึ่งก่อนการตาย "ข้ามแดน" กินนมน้อย และโตช้ากว่าตัวอื่น ๆ มีอาการซึม ไม่ขี้เล่น ทำให้พี่เลี้ยงต้องคอยเฝ้าระวังและสังเกตอาการเป็นพิเศษ

การตายของ "ข้ามแดน" ทำให้สัตวแพทย์และพี่เลี้ยงทุกคนก็รู้สึกเสียใจเช่นกัน เพราะตั้งแต่วันที่ได้ตรวจยึดลูกเสือโคร่งทั้ง 4 ตัว ทุกคนได้ดูแลอนุบาลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่การที่ทั้ง 4 ตัว ถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็กมาก ความแข็งแรงทางร่างกายและภูมิคุ้มกันโรค จึงอาจไม่เทียบเท่ากับการได้รับน้ำนมจากแม่เสือโคร่ง

ลูกเสือโคร่งทั้ง 4 ตัวนี้ เป็นการตรวจยึดได้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ก่อนที่จะถูกขนย้ายข้ามชายแดนด้านจังหวัดมุกดาหาร และนำไปอนุบาลไว้ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี โดยตั้งชื่อเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ แต่ไม่ถูกใจชาวโซเชียล เรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อใหม่

ตัวที่ 1 เพศเมีย ชื่อเดิม หุง เปลี่ยนเป็น มุกดา ตัวที่ 2 เพศเมีย ชื่อเดิม อุ่น เปลี่ยนเป็น สะหวัน หมายถึงชื่อของจังหวัดทั้ง 2 ประเทศ ตัวที่ 3 เพศผู้ ชื่อ ตุ๋น เปลี่ยนเป็น ข้ามโขง และตัวที่ 4 ที่ตายไปเป็นเพศผู้ ชื่อ ต้ม เปลี่ยนเป็น น้องข้ามแดน เป็นชื่อที่มีความหมายถึงการเดินทางไปมาระหว่างประเทศ