เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แค่ช่วยเติมเต็มไม่ได้มาแทนที่ฝีมือวาดภาพของคน

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แค่ช่วยเติมเต็มไม่ได้มาแทนที่ฝีมือวาดภาพของคน

View icon 207
วันที่ 22 ธ.ค. 2565 | 13.44 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แค่ป้อนคำในระบบก็สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้อย่างง่ายดาย  เมื่อเป็นเช่นนี้ AI จะเข้ามาแทนที่ ฝีมือ จินตนาการ อาชีพของคนเราหรือไม่  นักวิชาการจุฬาฯ ยืนยัน ไม่ได้เข้ามาแทนที่ แต่มาเติมเต็มผลงานของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น และปลดล็อกศักยภาพที่เป็นข้อจำกัดสำหรับหลายคน อย่างเช่นการวาดภาพและสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่หลายคนมองว่าตัวเองไม่มีทักษะและพรสวรรค์ด้านนี้เอาเสียเลย
แต่ตอนนี้ เพียงป้อนคำและข้อความ AI โปรแกรมวาดภาพก็จะแปลงคำให้เป็นภาพตามที่เราคิดและจินตนาการ ง่าย-สะดวก-รวดเร็ว ไม่ต้องเป็นศิลปินหรือร่ำเรียนมาทางด้านศิลปะก็สร้างสรรค์ผลงานที่สวยงามได้ โปรแกรม AI แบบนี้จึงได้รับความนิยมใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในการทำงานและงานอดิเรกที่สร้างความสนุกและผ่อนคลาย

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีผู้ตั้งคำถามกับเทคโนโลยีนี้ว่าจะเข้ามาแทนที่ศิลปินหรือไม่ จะมีผลกระทบต่องานและรายได้ของผู้ที่ประกอบอาชีพด้านศิลปะอย่างไร จินตนาการและฝีมือในการสร้างสรรค์ศิลปะของมนุษย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ รวมถึงคุณค่าของผลงานศิลปะด้วย
ประเด็นเหล่านี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะว่า “AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่เข้ามาเติมเต็มและช่วยให้มนุษย์ทำงานได้เร็วขึ้นและทำสิ่งที่อยากทำให้ (วาดรูป) ได้ดีมากขึ้น”

สอดคล้องกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่กล่าวว่า “AI ช่วยแปลงภาพในหัวเราให้ปรากฏเป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เป็นเครื่องมือที่ทำให้การทำงานศิลปะมีความสะดวกขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง”

AI วาดรูปได้อย่างไร?

AI สร้างสรรค์ผลงานด้วยการผสมผสานวัตถุดิบจากคลังข้อมูลที่มี ซึ่งก็คล้ายกับการทำงานของสมองมนุษย์ที่สร้างสรรค์ผลงานโดยต่อยอดจากข้อมูลในความทรงจำและเสริมเติมด้วยจินตนาการ
ผศ.ดร.สุกรี อธิบายการทำงานของ AI วาดรูปโดยยกตัวอย่างเว็บไซต์ Midjourney - โปรแกรมสร้างภาพจากการเขียนข้อความ (Text) ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันว่า “เราแค่ป้อน "คำ” “ข้อความ" หรือ text prompt ที่ต้องการวาดในภาพ แล้ว AI ก็จะประมวลผลจากคลังข้อมูลที่มีแล้วสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่เราต้องการออกมาให้”
ปัจจุบัน คลังข้อมูลทั้งภาพและคำในโลกมีจำนวนมหาศาล ทำให้ AI สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้เพื่อประดิษฐ์ภาพได้หลากหลายและแตกต่าง แม้จะป้อนคำและข้อความที่เหมือนกัน โอกาสที่ภาพของ AI จะผลิตมาซ้ำกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นไม่มากนัก

ตอบโจทย์ทุกงานภาพด้วย AI

ผศ.ดร.สุกรี กล่าวถึงการพัฒนา AI รูปแบบนี้ว่าในเบื้องต้นมุ่งเน้นประโยชน์สำหรับงานภาพ วิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการตัดรูป ตัดภาพพื้นหลัง การแต่งหน้า แปลงภาพถ่ายให้เป็นรูปการ์ตูน ฯลฯ เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจและรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับงานหลายด้านที่จำเป็นต้องใช้สื่อภาพ อาทิ สถาปัตย์ สื่อ การศึกษา การตลาด เป็นต้น

ปัจจุบัน จึงมีการนำ AI วาดรูปไปใช้ทำงานอย่างกว้างขวางและเป็นลักษณะการสร้างสรรค์งานอดิเรกด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบปกหนังสือ โปสเตอร์ ภาพประกอบ story board เพื่อนำเสนอแนวคิดของงานโฆษณา และสร้างภาพการ์ตูน ฯลฯ

63a3fe455f7183.11744772.jpg


ต่อเติมหรือลดทอนจินตนาการมนุษย์? 

เนื่องจาก AI โปรแกรมวาดภาพใช้งานง่าย สร้างผลงานได้ในเวลาอันรวดเร็ว และสะดวกสำหรับคนทั่วไป ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าแล้วจินตนาการและทักษะเชิงฝีมือด้านศิลปะยังจำเป็นสำหรับมนุษย์อยู่อีกหรือไม่
“AI ไม่ได้ทำให้คนมีจินตนาการลดลง ตรงกันข้าม มันช่วยต่อยอดจินตนาการของเรา” อาจารย์สถาปัตย์ฯ ผศ.ศุภวัฒน์ กล่าว “อย่างเราอยากวาดภาพที่ดูสลัว ๆ มีแสงไฟเล็ก ๆ ตอนกลางคืน เราอาจจะป้อนคำว่า “twilight” เข้าไป AI อาจสร้างภาพแสงม่วง ๆ มาให้ พอเราเห็นก็จะได้รู้ว่าสีแบบนี้เป็นอย่างไร สวยดีไหม โดยที่เรายังไม่ต้องลงมือวาดรูปนั้น ๆ แบบนี้ AI ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานให้เรา ให้เราทดลองความคิด เห็นภาพจินตนาการของเราก่อนลงมือทำ” 
ผศ.ศุภวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า “AI ไม่มีจินตนาการ มันทำงานกับข้อมูลเดิมที่มี แต่มนุษย์มีจินตนาการ มีความรู้สึกที่อยากทำสิ่งใหม่ อยากไปต่อ ที่สำคัญ มนุษย์ก็ยังคงเป็นผู้ที่ต้องคิดต่ออยู่ดีว่าจะวาดหรือจะทำอะไรและอย่างไร”

แทนที่ หรือ เติมเต็ม มนุษย์?
ผลงานหลายอย่างที่ AI เข้ามาช่วยมนุษย์สร้างสรรค์งานภาพเป็นงานซึ่งแต่เดิม คงต้องจ้างศิลปินหรือนักวาดภาพอาชีพเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ อย่างนี้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนที่ประกอบอาชีพด้านศิลปะ?
“เทคโนโลยีมาช่วยในหลายด้านและกับหลายคนที่ต้องการ เช่น คิดโลโก้ งานทำโปสเตอร์ ก็อาจจะมีผลกระทบกับผู้ที่ทำงานด้านนี้อยู่บ้าง แต่ AI เข้ามาแทนที่ศิลปินไม่ได้ คนที่จะซื้องานศิลปะเพื่อสะสมงานก็ยังคงต้องการผลงานของศิลปิน ยังไม่มีใครที่สะสมงานจากคอมพิวเตอร์ แม้ AI วาดรูปจะสร้างสรรค์ผลงานได้ “ว้าว” มาก แต่ถ้าถามว่าคนที่ทำงานชิ้นนั้นรู้สึกหวงภาพนั้นไหม ภาพนั้นมีมูลค่าหรือคุณค่ากับเราไหม คิดว่าไม่ขนาดนั้น”


63a3fe513cff63.38189682.jpg


ในมุมมองของศิลปินอย่าง ผศ.ศุภวัฒน์ คุณค่าของผลงานศิลปะไม่ได้อยู่ที่ความงามเท่านั้น แต่อยู่ที่เรื่องราว กระบวนการสรรค์สร้างและตัวตนของผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วย 
“งานศิลปะที่มีเอกลักษณ์ส่วนใหญ่แล้วจะมีที่มาที่ไป มาจากตัวตนความรู้สึก แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดผลงาน รวมถึงกระบวนการการสร้างงานด้วย”

ผลงานศิลปะที่มาจากฝีมือมนุษ์มีพลังที่ ผศ.ดร.สุกรี ผู้สอนเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ เรียกว่า “human touch” ซึ่งจะหาไม่ได้จากผลงานที่ทำโดย AI
“เราต้องแยกให้ออกระหว่าง “เครื่องมือ” กับ “ฝีมือ”ทั้ง ผศ.ดร.สุกรี และ ผศ.ศุภวัฒน์ เห็นพ้องกัน
“ในวงการศิลปะ เทคโนโลยียังไม่สามารถแทนที่คนได้ ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสื่อสารกับสังคม และขายผลงานเพื่อดำรงชีพ หากมีคนซื้อชิ้นงานลดลง ก็คงไม่ใช่เพราะ AI แต่น่าจะเป็นเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่า ผู้ที่เสพ ซื้อ และสะสมผลงานศิลปิน ต้องเป็นผู้มีเงินและเล็งเห็นมูลค่าชองงานศิลปะที่จะเก็งกำไรได้” ผศ.ศุภวัฒน์ ให้ความเห็น

การพัฒนาเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ยังคงเดินหน้า นับวันจะยิ่งมี AI ที่มีศักยภาพและความสามารถหลากหลายเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ ผศ.ดร.สุกรี กล่าว
“เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง มันสร้างอาชีพของนักพัฒนา ตอนนี้คนทำเรื่องนี้เยอะแยะ เป็นประโยชน์ต่อคนที่จะได้ริเริ่มอาชีพใหม่ ๆ เกิดประโยชน์ต่อเราในภาพรวม”
ผศ.ศุภวัฒน์ กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาอย่างไร “ชีวิตก็ยังเป็นของมนุษย์อยู่ดี ขอให้เราสนุกไปกับเทคโนโลยีที่นำความเปลี่ยนแปลงเข้ามาให้ชีวิต”

63a3fed28acba3.74112674.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง