รายงานพิเศษ : เจาะลึก ทำไมรถแท็กซี่ย้อนศรถูกรถไฟชน

View icon 3.8K
วันที่ 24 ธ.ค. 2565 | 04.19 น.
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - เมื่อเช้าวานนี้ เกิดอุบัติเหตุรถแท็กซี่ขับย้อนศรฝ่าเครื่องกั้นทางรถไฟบริเวณแยกนอร์ธปาร์ค ถูกรถไฟสายชานเมือง กรุงเทพ-แก่งคอย พุ่งชนจนคนขับรถเสียชีวิต เรื่องที่เกิดขึ้นมีแง่มุมอย่างไร และทำไมรถแท็กซี่คันดังกล่าวจึงขับเข้าย้อนศรเข้าไปจนเกิดอุบัติเหตุ เรื่องนี้ทีมข่าวลงพื้นที่ไปเจาะข่าวนี้

จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณจุดข้ามทางรถไฟ แยกนอร์ธปาร์ค แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ต่อเนื่องไปจนถึงฝั่งตรงข้าม สน.ทุ่งสองห้อง พบรถไฟชานเมือง กรุงเทพ-แก่งคอย จำนวน 4 ตู้โดยสารจอดนิ่งอยู่ ส่วนรถแท็กซี่บุคคลสีเขียว-เหลือง ฝั่งคนขับพังเสียหายยุบไปเกือบครึ่งคัน หลังเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ใช้อุปกรณ์ตัดถ่างนำศพผู้เสียชีวิตออกมา จึงทราบชื่อคนขับคือ ร้อยตรี ชูชีพ วังทอง

ทีมข่าวลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบว่าจุดข้ามทางรถไฟดังกล่าว เป็นทางเข้าออกวันเวย์ คือขาเข้านอร์ธปาร์ค 2 ช่องทาง และขาออกนอร์ธปาร์คเข้าสู่ถนนวิภาวดีรังสิต 2 ช่องทาง จุดที่เกิดเหตุเป็นทางเข้า มีเครื่องกั้นแค่ด้านเดียว รถแท็กซี่คันดังกล่าวขับรถผ่านสัญญาณไฟเขียวด้วยความเร็ว และเลี้ยวขวาเพื่อจะออกถนนวิภาวดี แต่ดันไปเลี้ยวผิดเลน ทางออกที่ต้องใช้เลี้ยวออกไปถนนวิภาวดี อยู่ถัดไปอีกประมาณ 2 เมตร จึงทำให้ขับรถย้อนศรเข้าไป และไม่เจอเครื่องกั้นฝั่งนี้ พยายามจะเบรก แต่ไม่ทันจึงถูกรถไฟพุ่งชน ซึ่งบริเวณทางเข้าดังกล่าว ไม่ได้มีการติดตั้งป้ายห้ามเข้า หรือทำสัญลักษณ์จราจรที่ชัดเจน ทำให้ผู้ที่ไม่ชำนาญทางอาจเข้าใจผิดและขับรถหลงเข้าไปได้

จากการสอบถามพนักงานชั่วคราวเครื่องกั้นทางรถไฟ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่า หลังได้รับแจ้งว่ารถไฟกำลังเคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟบางเขน มุ่งหน้าไปสถานีรถไฟหลักสี่ จึงส่งสัญญาณเครื่องกั้น และลากเครื่องกั้น เพื่อป้องกันรถผ่าน ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที รถไฟจึงจะมาถึงทางบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ในขณะนั้นรถแท็กซี่คันดังกล่าว ขับรถย้อนศรเข้ามาผิดเลน จึงไม่เจอเครื่องกั้น วินาทีนั้นตนพยายามส่งเสียง พร้อมกับโบกมือห้าม แต่ก็ไม่ทัน

อีกคนคือพนักงานเครื่องกันรถไฟประจำซุ้มเกิดเหตุ เล่าว่า ปกติถนนเส้นนี้จะมีรถยนต์หลงทางเข้ามาอยู่บ่อยครั้ง เพื่อจะไปออกถนนวิภาวดี ต้องคอยส่งเสียงบอกว่า ผ่านไม่ได้อยู่บ่อยครั้ง แต่บางครั้งคนขับรถก็ไม่ได้ยิน โดยเฉพาะเวลากลางคืนจะมืด จะเห็นทางออกไม่ชัดเจน

มาดูสถิติที่ขบวนรถไฟเฉี่ยวชนกับยานพาหนะทั่วประเทศ ที่เก็บรวบรวมโดยการถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2565 ถึงเดือนธันวาคม พบว่าเกิดอุบัติเหตุรถไฟเฉี่ยวชนกับยานพาหนะ ทั้งบริเวณในสถานีรถไฟ และระหว่างเส้นทางสถานีไปแล้ว ทั้งหมด 54 ครั้ง บาดเจ็บ 35 ราย และเสียชีวิตไป 14 ราย โดยรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถไฟมากที่สุด 23 ครั้ง รองลงมาคือรถยนต์ 22 ครั้ง รถบรรทุก 7 ครั้ง รถจักรยาน 1 ครั้ง และรถเพื่อการเกษตร 1 ครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง