เคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้มีความสุข ประสบความสำเร็จ

เคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้มีความสุข ประสบความสำเร็จ

วันที่ 4 ม.ค. 2566 | 20.25 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ขอนำเสนอ 25 เคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้มีความสุข ประสบความสำเร็จ

งานวิจัยต่างๆ ทั่วโลก ทำการศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กมีความสุขและประสบความสำเร็จเมื่อเติบโต โดย Daniel-Wong.com รวบรวมไว้ใน How to Raise a Happy, Successful Child: 25 Tips backed by science

1. พ่อและแม่เองต้องมีความสุข
งานวิจัยหลายชิ้น พบว่า ปัญหาทางอารมณ์ของพ่อแม่มีความสัมพันธ์กับความสุข และภาวะทางอารมณ์ของลูก เช่น งานวิจัยพบว่าคนที่ไม่มีความสุขก็จะเป็นพ่อแม่ได้ไม่ดีนัก นักจิตวิทยา Carolyn and Philip Cowan พบว่า พ่อแม่ที่มีความสุขมักจะมีลูกที่มีความสุข

งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Cambridge ระบุว่าความสุขของแม่มีผลต่อการเชื่อมโยง การสื่อสารกับลูก หรือก็คือการพัฒนาของลูกน้อยนั่นเอง

The Secrets of Happy Families ซึ่งเป็นงานศึกษาชิ้นหนึ่ง สอบถามเด็กว่าอยากจะขอพรอะไรเกี่ยวกับพ่อแม่ของตน คำตอบที่ได้ ไม่ใช่ว่าขอให้มีเวลาอยู่กับเขามากขึ้น ให้อิสระกับเขามากขึ้นหรือบ่นน้อยลง แต่กลับขอให้พ่อแม่เครียดและเหนื่อยน้อยลง

2. ร่วมฉลองกับครอบครัวให้บ่อยเท่าที่จะทำได้
อาจจะเป็นการฉลองทุกวันศุกร์ด้วยการกินข้าวพร้อมหน้า ฉลองเมื่อได้งานใหม่ ได้ขึ้นตำแหน่งหรือได้โบนัส ไปเที่ยวสวนหรือที่ร่มรื่นในวันหยุดยาว หรือฉลองเทศกาล เช่น ฉลองทั้งปีใหม่ฝรั่ง ไทย จีน เลยก็ได้

3. ให้ความสำคัญกับการครองคู่ก่อนเรื่องลูกๆ
เพราะการเอาเรื่องลูกมาเป็นศูนย์กลาง เช่น การวางแผนชีวิตลูก การอบรมลูก พัฒนาการของลูก พ่อแม่จะกังวล เหนื่อย จนเกิดการถกเถียงและกระทบกับชีวิตคู่

วิธีการทำให้การครองคู่มีความสุข เช่น บอกรักหรือกอดกันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง สนทนากันอย่างมีความสุขอย่างน้อยวัน 20 นาที ชื่นชมซึ่งกันและกัน จับมือกันบ่อยๆ และมีเวลาเที่ยวด้วยกันบ้าง

4. ให้ความสนใจกับลูกแบบเต็ม 100% เวลาที่ลูกคุยกับคุณ
ระหว่างอยู่กับลูก อย่ามัวแต่คิดเรื่องงาน ห่วงแต่ข้อความที่ส่งมาทางมือถือ หรือคิดเรื่องปัญหาชีวิตตัวเองหรือคู่ เมื่อคุณอยู่กับเขาเต็มร้อย คุณจะพูดคุยอย่างตั้งใจฟังและให้ความสนใจเต็มที่กับการสนทนา ตอบคำถามของลูกคุณได้ดีขึ้น ทำให้เขาอยากสื่อสาร เล่าปัญหาให้ฟัง

5. ทานอาหารด้วยกันเป็นประจำ อย่างน้อยก็มื้อเย็น
ในงานศึกษา The Secrets of Happy Families บอกไว้ว่าเด็กที่ทานข้าวพร้อมหน้ากับพ่อแม่เป็นประจำมักประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้านมากกว่าเด็กทั่วไป เช่น รู้จักคำต่างๆ มากกว่าเด็กทั่วไป มีความเชื่อมั่นในตัวเองและเรียนได้คะแนนดีกว่า และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะโตมาแล้ว ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ติดยา หรือมีปัญหาทางจิต

6. สอนให้ลูกรู้จักจัดการกับอารมณ์
งานวิจัยของ John Gottman พบว่าการจัดการอารมณ์ได้ จะทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เขาบรรลุเป้าหมายชีวิตได้ง่ายขึ้น มีสุขภาพที่แข็งแรงกว่า

วิธีสอนที่ดีและง่ายที่สุด คือทำตัวคุณเองเป็นตัวอย่าง อย่าเอะอะก็ขึ้นเสียง ใส่อารมณ์กับลูก และอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ไม่ว่าอารมณ์ไหนมันก็โอเคที่จะมีได้ แต่อย่าปล่อยให้การแสดงอารมณ์นั้นติดเป็นนิสัย และเมื่อลูกประพฤติดีขึ้น จัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น ก็อย่าลืมชื่นชมลูก

7. สอนลูกให้รู้จักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
งานวิจัยของ Jack Shonkoff and Deborah Phillips พบว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว มีความสำคัญกับการเติบโตและการมีสุขภาพจิตที่ดีของลูก เด็กที่ขาดความอบอุ่นจะมีผลการเรียนที่แย่กว่า มีโอกาสทำผิดกฎหมายหรือมีปัญหาทางจิต ถ้าพ่อแม่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ลูกก็จะรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัย และนี่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง

8. กำหนดกฎหรือข้อตกลงให้กับลูกคุณอย่างมีเหตุผล
งานวิจัย Nancy Darling และ Linda Caldwell พบว่าการอธิบายหลักการความเป็นมาเป็นไป (logic) ของกฎที่ตั้งขึ้นให้ลูกฟัง จะทำให้พ่อแม่สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าไม่ตั้งกฎเลย ปล่อยให้เขาทำอะไรก็ได้ เด็กจะเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่สนใจเขา แต่การควบคุมมากเกินไปก็ทำให้เด็กต่อต้าน

ถ้าจะไม่ให้เขาทำอะไร คุณต้องอธิบายอย่างมีเหตุผลว่า ทำแล้วไม่ดี ไม่ปลอดภัยกับเขายังไง ไม่ใช่แค่บอกว่า “อย่าทำ” “ไม่ให้ทำ” แล้วหวังว่าลูกจะทำตามที่สั่ง

9. ให้เด็กนอนหลับอย่างเพียงพอ ด้วยการฝึกให้นอนเป็นเวลา
ห้องนอนควรเป็นห้องที่มืดและเงียบ งดกิจกรรมและการใช้จอต่างๆ ก่อนนอน เพราะแสงทำให้ร่างกายผลิตสารเมลาโทนินลดลง

งานวิจัยพบว่าเด็กที่นอนไม่พอ สมองจะทำงานแย่กว่า สมาธิสั้น มีความคิดสร้างสรรค์ลดลง และจัดการกับอารมณ์ไม่ได้ดีนัก  และมักจะมีโอกาสเป็นเด็ก/คนที่มีน้ำหนักเกิน

10. ให้ความสำคัญกับกระบวนการ ไม่ใช่มุ่งแต่ผล
พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกโดยมุ่งแต่ผลสำเร็จของลูก เช่น ให้ลูกเล็กเรียนพิเศษทั้งเย็น ทั้งวันหยุด เพื่อให้ได้ที่ 1 เพื่อสอบเข้าโรงเรียนอันดับต้นๆ ของจังหวัด/ประเทศ เมื่อลูกได้ตามที่พ่อแม่ตั้งเป้าไว้ก็จะให้รางวัล หรือถ้าไม่ได้ก็ดุด่า การเติบโตมาแบบนี้มักจะทำให้เด็กมีปัญหาทางจิต

สิ่งที่พ่อแม่ควรใส่ใจ คือ เด็กมีความพยายามที่จะทำไหม มีนิสัยและมุมมองที่ดีหรือไม่ ถ้าเค้าทำเต็มความสามารถแล้ว แต่ไม่ได้ตามที่คาดหวัง พ่อแม่ควรชื่นชมกับความพยายามนั้นและสอนให้เขารู้ว่าสิ่งสำคัญ คือ เขาได้ทำดีที่สุด ณ ตอนนั้นแล้ว ผลที่ได้รับอาจจะแย่กว่านั้นถ้าเขาไม่ได้พยายามเลย.... งานวิจัยของ Dr. Carol Dweck เด็กที่โตมาในแบบนี้มักจะประสบความสำเร็จในระยะยาวมากกว่า

11. ให้เด็กได้มีเวลาเล่นบ้าง
ควรให้มีกิจกรรม outdoors บ้าง จะเล่นกีฬา เดินเที่ยวสวน เที่ยว museum ก็ได้ เพราะทำให้เด็กมีพัฒนาทั้งทางกาย จิตใจ อารมณ์ และการอยู่ร่วมกันสังคม และมีผลการเรียนดี

12. ลดเวลาการใช้ชีวิตกับทีวีของเด็กลง
Daniel อ้างถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ทำการศึกษาเด็กวัยรุ่นกว่า 4,000 คน พบว่าเด็กที่ดูทีวีมากกว่าจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นยังพบว่าการใช้ social media มาก (ใช้จอมือถือ จอ ipad มาก) ก็ให้ผลคล้ายกัน

13. ส่งเสริมให้ลูกรู้จักขอบคุณกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต
งานวิจัยของ Dr. Robert Emmons พบว่าการที่คุณรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณอย่างสม่ำเสมอในช่วง 10 สัปดาห์ จะช่วยให้คุณมีความสุขเพิ่มขึ้น 25% มีความหวังเพิ่มขึ้น และป่วยน้อยลง

ทำได้ง่ายๆ ด้วยการให้เขาเขียนสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกขอบคุณซาบซึ้งในวันนั้น แค่ 2-3 อย่างก็พอ เช่น มีสุขภาพดี ครอบครัวอบอุ่น ได้กินอาหารอร่อย ได้อ่านบทความดีๆ

14. ปล่อยให้เขาเลือกเอง แม้แต่วิธีการลงโทษที่เขาจะได้รับก็ให้เลือกเอง
งานวิจัยของ University of California พบว่าการให้เด็กวางแผนตารางเวลาของตัวเอง เลือกกิจกรรมที่อยากทำเอง วางเป้าหมายให้ตัวเอง เด็กก็จะมีวินัยมากกว่า มุ่งสู่เป้าหมายได้ดีกว่า และตัดสินใจได้ดีกว่า และถ้าให้เลือกวิธีการลงโทษเอง ก็จะมีโอกาสทำผิดน้อยกว่าด้วย

Dr. Rich Gilman พบว่า เด็กที่เลือกกิจกรรมในโรงเรียนเอง จะชอบไปโรงเรียนมากกว่าถึง 24% การได้ทำในสิ่งที่เลือกเอง เขาจะมีความสุขกับสิ่งเขาทำ

15. จัดการปัญหาการสมรสของคุณเองให้เรียบร้อย
งานวิจัยของ Kelly Musick พบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่มีปัญหาการสมรสมักจะเรียนแย่กว่า มีโอกาสติดยาติดเหล้า และมีปัญหาทางอารมณ์ เด็กในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกันมีปัญหากัน จะมีความอยากเรียนลดลง มีการเข้าร่วมกับการเรียนการสอนลดลง รับผิดชอบกับงานน้อยลง

คำแนะนำของ Daniel และงานวิจัยหลายชิ้น ไม่ใช่ว่าให้คุณหย่าขาดกันไป ลูกจะได้ไม่เห็นคุณทะเลาะกัน เพราะนั่นไม่ใช่ทางแก้ กลับสร้างปัญหาใหม่ให้กับเด็ก แต่สิ่งที่แนะนำ คือ การไปพบนักบำบัดชีวิตคู่เพื่อปรับสภาพการสมรสให้เข้าใจถึงต้นเหตุแห่งปัญหา และแก้ที่ต้นเหตุ (ไม่ใช่ปลายเหตุ อย่างเช่น การหย่าร้าง)

16. สนับสนุนให้ลูกคุณมีน้ำใจและให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
Dr. Mark Holder ทำการศึกษาเด็กอายุ 8-12 ปี พบว่า การที่เด็กได้อาสาทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ รวมไปถึงกิจกรรมเพื่อสังคม  ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและมีความสุข

Dr. L.B. Aknin. พบว่าเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 7 ปี จะมีความสุขเมื่อได้ให้มากกว่าเมื่อได้รับ โดยเฉพาะเมื่อให้ของที่เป็นของเขา เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น และถ้าเราฝึกให้ลูกรู้จักให้ ความหวงของมันก็หายไปได้

17. ส่งเสริมให้เด็กมีรูปร่างที่เหมาะสม มีสุขภาพดี
ในขณะเดียวกันก็อย่าคอยแต่หมกมุ่นติเตียนเรื่องรูปร่างของตัวเองต่อหน้าลูก

18. อย่าตะคอกตะโกนใส่ลูกของคุณ
Dr. Laura Markham บอกว่า การทำแบบนั้นจะทำให้ลูกคุณมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยและกลายเป็นคนขี้กังวล

ถ้าคุณคุมอารมณ์ไม่อยู่ Daniel Wong แนะให้จินตนาการว่าในห้องนั้นมีเพื่อนและเจ้านายคุณอยู่ด้วย เพราะมันจะทำให้คุณสำนึกขึ้นได้บ้างว่าเวลาคุณอยู่กับคนอื่น คุณปฏิบัติตัวอย่างระมัดระวัง ทำไมเมื่ออยู่กับลูก คุณกลับไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

19. สอนให้ลูกรู้จักการให้อภัย ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี
Dr. Martin Seligman พบว่าการไม่รู้จักให้อภัย มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

เมื่อพ่อแม่ทะเลาะกันแล้วยอมให้อภัยซึ่งกันและกัน หรือพ่ออภัยให้ลูก ลูกๆ จะเห็นตัวอย่างว่าการให้อภัยไม่ใช่เรื่องยาก และมันนำไปสู่ความสุขร่วมกัน เขาก็จะเป็นคนที่ให้อภัยผู้อื่น

20. สอนให้ลูกคุณคิดบวก
การสอนที่ดีคือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น คุณต้องคิดบวกก่อน ไม่ใช่เอะอะก็บ่น หรือนินทาคนอื่น อย่าทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ เช่น แค่ทำน้ำหก จานแตก ไม่ต้องทำเหมือนลูกคุณไปฆ่าใครตาย

เวลาที่เขาทำดี ก็ชื่นชม อย่าคิดว่าเป็นสิ่งที่ลูกคุณต้องทำอยู่แล้ว ไม่ได้สำคัญอะไร คุณยังอยากได้รับคำชมจากเจ้านาย อยากได้โบนัสตอบแทนความดีงามของคุณ.. ลูกคุณก็ไม่ต่างกัน

21. ตั้งเป้าหมายวิสัยทัศน์ของครอบครัวร่วมกัน
Bruce Feiler เป็นผู้เสนอวิธีนี้ หลักการคือร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ ไม่ใช่แค่พ่อแม่ แต่ต้องรวมลูกของคุณเข้าไปด้วย

22. มีการประชุมภายในครอบครัวเป็นประจำ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เช่น คุยกันในแต่ละสัปดาห์ ว่ามีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง  มีอะไรไม่ดีบ้าง และสัปดาห์ต่อไปมีแผนอะไรบ้าง

23. เล่าเรื่องบรรพบุรุษหรือความหลังของคุณให้ลูกฟัง การเล่าเรื่องความเป็นมาของครอบครัวจะช่วยให้สัมพันธ์ภายในครอบครัวมีความเข้มแข็ง

งานวิจัยบางชิ้นพบว่า เด็กที่รู้ความเป็นมาของครอบครัว จะมีความเชื่อมั่นและรู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง ซึ่งสามารถส่งผลต่อความสำเร็จและความสุขในภายหน้า

24. ควรมีการกำหนดการทำบางอย่างร่วมกันเป็นประจำ เช่น ตกลงที่จะกินข้าวเช้าด้วยกันทุกวันหยุด ทำกับข้าวด้วยกันทุกเย็นวันเสาร์หรืออาทิตย์ ไปเที่ยวต่างจังหวัดทุก 3 เดือน การไปทำบุญไหว้พระด้วยกันทุกวันปีใหม่

Dr. Dawn Eaker and Dr. Lynda Walters’ research พบว่า การทำแบบนี้จะทำให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ดี เคารพกฎกติกาและวัฒนธรรมของสังคม

25. หาคนที่คุณไว้วางใจมาเป็น mentor ให้ลูกคุณ
Mentor ไม่จำเป็นต้องสอนหนังสือให้ลูกของคุณ ไม่ใช่พี่เลี้ยง แต่คนๆ นี้ต้องสามารถเป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้เห็นว่าการทำดี ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นผู้ให้คำแนะนำที่ดี ทำให้เด็กพัฒนาตัวเองในทางที่ถูก รู้จักตั้งเป้าหมายชีวิต

Dr. Lisa Colarossi พบว่าเด็กที่มี mentor ที่ไม่ใช่พ่อแม่ จะมีความสุขพอใจในชีวิตตนเองมากกว่าเด็กทั่วไป 30%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง