กทม.ยืนยันไม่ได้ยกเลิก 4 โครงการ แค่ทบทวน ปรับแผนบริการให้คุ้มค่าที่สุด

View icon 533
วันที่ 13 ม.ค. 2566 | 07.12 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - สัปดาห์ที่แล้ว กทม. มีการชี้แจงเกี่ยวกับการสั่งหยุดเดินเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม และเปิดเผยว่ามีอีก 3 โครงการที่จะต้องมีการทบทวนเพราะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องจ่าย วันนี้เราเลยส่งทีมข่าวไปดูปัญหาว่าทำไมถึงไม่ตอบโจทย์ประชาชน แล้วโครงการที่เหลือจะยังอยู่ต่อหรือไม่

ก่อนหน้านี้ กทม. มีการสั่งทบทวนความคุ้มค่าของ 4 โครงการที่ให้บริการกับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ เรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งปัจจุบันหมดสัญญาเดินเรือ และหยุดการเดินเรือไปแล้ว ต่อมาคือ เรือไฟฟ้าคลองแสนแสบ โครงการท่อร้อยสายใต้ดิน และรถด่วน BRT ในส่วนของเรือคลองผดุงกรุงเกษมและท่อร้อยสายใต้ดินตอนนี้ยุติไปแล้ว

ทีมข่าวเลยพาไปสำรวจ 2 โครงการที่ยังให้บริการอยู่ คือ เรือไฟฟ้าคลองแสนแสบ และ รถด่วน BRT เริ่มกันที่เรือไฟฟ้าคลองแสนแสบ ส่วนต่อขยาย ช่วงมีนบุรี ถึงวัดศรีบุญเรือง มีเรือ 12 ลำ ให้บริการฟรี ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร จำนวน 12 ท่าเรือ จะหมดสัญญาในปี 2568 แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ย 9,491คน/เดือน ค่าบริหารจัดการต่อเดือนประมาณ 2.7 ล้านบาท ค่าเฉลี่ยต้นทุนค่าโดยสาร 284 บาท/คน

จากการลงพื้นที่พบว่าสาเหตุที่ทำให้มีผู้ใช้บริการน้อย อย่างแรกคือเรือแล่นได้ช้า เพียง 16-17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รอเรือแต่ละรอบครึ่งชั่วโมง ขาดการประชาสัมพันธ์ รวมถึงพฤติกรรมการเดินทางของผู้คนไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรือมากเท่าในเมือง แต่คนที่ใช้บริการอยู่หลายคนก็บอกว่าไม่อยากให้ยกเลิก เพราะถือว่าเป็นสวัสดิการประชาชน

เราสอบถามไปยังผู้บริหารชุดเก่าที่เริ่มโครงการนี้ บอกว่าหากโครงการเรือไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางต้องยกเลิกไปคงเป็นที่น่าเสียดาย เพราะมองว่าเรือเป็นการลงทุนที่ถูกกว่ารถ เพราะไม่ต้องสร้างถนนใหม่ และการพัฒนาการขนส่ง จะให้ลงตัวในระยะเวลาอันสั้นคงเป็นไปไม่ได้ ในช่วงแรกอาจต้องยอมไม่คุ้มทุนบ้าง เพื่อผลตอบแทนคือความสะดวกในการเดินทางในอนาคต

อีกหนึ่งโครงการที่จะหมดสัญญา ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 นี้ คือรถด่วน BRT สายสาทร–ราชพฤกษ์ ที่ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2553 ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี โครงการนี้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 35,000 คนต่อวัน แต่ปัจจุบันค่าเฉลี่ยผู้โดยสารรายวันอยู่ที่ 6,721 คนต่อวัน และมีค่าใช้จ่ายปีละกว่า 200 ล้านบาท ทำให้ กทม.ต้องกลับมาทบทวนว่าจะต่อสัญญาหรือไม่ ขณะที่ประชาชนที่ยังใช้บริการอยู่มองว่าไม่อยากให้ยกเลิก

ผู้ที่นำแนวคิดเรื่องรถ BRT มาใช้ในกรุงเทพมหาคร ซึ่งเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ในยุคที่จะมีการนำรถด่วน BRT มาใช้บอกว่าการลงทุนของรัฐจะมองเรื่องกำไรขาดทุนไม่ได้ ต้องมองไปถึงสิ่งที่ประชาชนได้รับว่าลงทุนไปแล้วประชาชนได้อะไร ถ้าจะยกเลิกคงต้องยกเลิกโครงการรัฐทั้งหมด เพราะไม่มีโครงการไหนเลยที่ไม่ขาดทุน

นอกจากนี้เราสอบถามไปยัง รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่า กทม. ชี้แจงว่าจริง ๆ แล้วยังไม่ได้ยกเลิกทุกโครงการ อาจจะมีการเปลี่ยนแผนการให้บริการที่เหมาะกับจำนวนผู้ใช้งานเท่านั้น และเพียงแต่ต้องกลับมาทบทวนดูความคุ้มค่า เพื่อให้เงินถูกใช้อย่างตรงจุดมากที่สุด อย่างเรือคลองผดุงกรุงเกษมเดือนหน้าก็จะนำกลับมาวิ่งแล้ว