รัฐบาล สั่งทุกหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบนอมินีแฝงทำธุรกิจย่านเยาวราช

รัฐบาล สั่งทุกหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบนอมินีแฝงทำธุรกิจย่านเยาวราช

View icon 94
วันที่ 16 ม.ค. 2566 | 11.29 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รัฐบาล สั่งทุกหน่วยงานบูรณาการ ลงพื้นที่ตรวจสอบ หาหลักฐานเอาผิดนักท่องเที่ยวที่แอบแฝงเข้ามาทำธุรกิจหลากหลายในย่านเยาวราช  พบผิดไม่เอาไว้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด โทษหนักจำคุก 3 ปี ปรับสูงสุด 1 ล้านบาท ปรับรายวันอีก 10,000-50,000 บาทจนกว่าจะเลิกทำ

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกังวลกรณีอาจมีนักท่องเที่ยวแอบแฝงเข้าทำธุรกิจหลากหลายประเภทในย่านเยาวราช เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าขาย ฯลฯ ในรูปแบบการลงทุนผ่านนอมินี นั้น

วันนี้ (16 ม.ค.2566)  นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับกรณีดังกล่าว ได้สั่งให้ทุกหน่วยงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้ง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว สันติบาล และตำรวจในพื้นที่ (บช.น.)  ลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด

โดยในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชีสาม (19) ท้ายพระราชบัญญัติฯ ซึ่งทางอย่ากรมฯ มีมาตรการป้องปรามและตรวจการกระทำในลักษณะนอมินี ดังนี้

1.ขั้นตอนการจดทะเบียน กำหนดให้คนไทยที่ร่วมลงทุนในนิติบุคคลต้องแสดงหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินที่แสดงว่ามีทรัพย์สินเพียงพอที่จะลงทุนในนิติบุคคลได้
2.เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะตรวจสอบว่ามีการใช้คนไทยถือหุ้นแทนหรือกระทำการในลักษณะนอมินีเพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงรวมทั้งพยานเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตรวจสอบ  ปัจจุบันกรมฯ ได้จัดทำเป็นแผนงานตรวจสอบประจำปีซึ่งธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในแผนงานตรวจสอบด้วย
3.กรณีการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจคนเดียว ซึ่งคนต่างชาติไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งหากพบว่ามีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดตามกฎหมายของกระทรวงแรงงานและของกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งหากพบคนไทยมีการจดทะเบียนพาณิชย์แทนคนต่างด้าวก็จะมีความผิดในลักษณะนอมินีด้วย

“จึงขอเน้นย้ำว่า คนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทยเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 - 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน มากไปกว่านั้น คนต่างด้าว เมื่อเข้ามาในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 หากฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญาและมาตรการห้ามเข้าประเทศต่อไป อีกทั้ง นายจ้างหรือผู้รับคนต่างด้าวเข้าพักจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกัน” นางสาวรัชดา กล่าว