ลูกเสือโคร่งของกลาง เดินทางกว่า 8 ชม. ถึงบึงฉวากอย่างปลอดภัย

ลูกเสือโคร่งของกลาง เดินทางกว่า 8 ชม. ถึงบึงฉวากอย่างปลอดภัย

View icon 303
วันที่ 18 ม.ค. 2566 | 09.00 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปลอดภัยตลอดการเดินทางกว่า 8 ชม. “สะหวัน มุกดา ข้ามโขง” หลับมาตลอดทาง ถึงบึงฉวากแล้ว ทีมสัตวแพทย์ที่ดูแลจนผูกพัน กลั้นน้ำตาไม่อยู่ อุ้มส่งถึงกรงโบกมือลา เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของลูกเสือโคร่งของกลาง

ลูกเสือโคร่งถึงบึงฉวาก วันนี้ (18 ม.ค.66) ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงภารกิจย้ายลูกเสือโคร่งของกลาง “สะหวัน มุกดา ข้ามโขง” มาดูแลที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ว่า เมื่อเวลา 05.00 น. ทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล ขนย้ายลูกเสือโคร่งของกลาง จำนวน 3 ตัว จาก จ.อุบลราชธานี มาเลี้ยงดูที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ดำเนินการส่งมอบ-รับมอบ ลูกเสือโคร่งของกลาง ตามคดีอาญาที่ 1684/2565 ยึดทรัพย์ที่ 250/2565 จำนวน 3 ตัว โดยมีนายธีระยุทธ วงศ์ไพเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เป็นผู้ส่งมอบ น.ส.ธชพรรณ ลีลาพตะ นายสัตวแพทย์ และ น.ส.มาริษา ชุ่มวิจิตร นายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นผู้รับมอบ

การเคลื่อนย้ายลูกเสือโคร่ง ใช้รถยนต์ราชการหมายเลขทะเบียน ฮต 6406  กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน กจ 2619 ราชบุรี เคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เริ่มขนย้ายตั้งแต่เวลา 19.00 น. วานนี้ (17 ม.ค. 66) และเดินทางถึงยังศูนย์พัฒนาฯ บึงฉวาก เวลา 03.33 น. วันนี้ (18 ม.ค.66) เป็นที่เรียบร้อย รวมระยะเวลา 8 ชั่วโมง 33 นาที

ตลอดการเดินทางไม่เกิดเหตุฉุกเฉิน สภาพร่างกายลูกเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว ปกติ นอนหลับตลอดการเดินทาง ซึ่งปกติแล้วลูกเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว จะมีพฤติกรรมนอนหลับช่วงเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ทีมสัตวแพทย์จึงวางแผนการเดินทางเป็นช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังมีพี่เลี้ยงดูแลลูกเสือโคร่งทั้งง 3 ตัว อย่างใกล้ชิด ซึ่งหากพบความผิดปกติจะทำการแจ้งทีมสัตวแพทย์ สัตวบาลทันที ภารกิจขนย้ายลูกเสือโคร่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ขณะนำส่งลูกเสือโคร่ง 3 ตัว นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ร่วมกับผู้เลี้ยงได้อุ้มลูกเสือนำไปใส่กรง ท้ายรถตู้ ระหว่างนั้นสัตวแพทย์หญิง คชรินทร์ ราชสินธุ์ กลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ด้วยความผูกพันและคุ้นชินกับลูกเสือทั้ง 3 ตัว โดยนายชัยวัฒน์ให้เหตุผลว่า ลูกเสือทั้ง 3 ตัว ไปอยู่ที่ศูนย์พัฒนาฯบึงฉวาก เป็นข้อดีมากกว่า ในทุกๆด้าน ทั้งด้านงบประมาณ ที่สถานีเพาะเลี้ยงจุฬาภรณ์ มีไม่เพียงพอ ด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ศูนย์พัฒนาฯบึงฉวาก มีความพร้อมกว่า รวมถึงด้านบุคลากร ที่สถานีเพาะเลี้ยงจุฬาภรณ์มีน้อยกว่ามาก อีกทั้งที่ศูนย์พัฒนาฯบึงฉวากมีความพร้อมของสถานที่ อุปกรณ์ และยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลลูกเสือทั้ง 3 ตัวนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง