คอลัมน์หมายเลข 7 : ส่องเสาไฟรูปช้าง เทศบาลตำบลท่าม่วง ต้นละเกือบ 1.4 แสนบาท

View icon 267
วันที่ 23 ม.ค. 2566 | 20.10 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - มีคุณผู้ชมร้องเรียนมาที่คอลัมน์หมายเลข 7 บอกว่าให้ช่วยลงพื้นที่ไปติดตามการใช้งบประมาณของเทศบาลตำบลท่าม่วง ซึ่งมีความพยายามในการที่จะติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปช้างที่มีราคาสูง แทนที่จะติดตั้งเสาไฟโคมธรรมดาที่ถูกกว่าหลายเท่า คุณสุธาทิพย์ ผาสุข ลงพื้นที่ไปจังหวัดกาญจนบุรี 

คอลัมน์หมายเลข 7 ขับรถสำรวจถนนเทศบาลซอย 11 บ้านแขก หมู่ที่ 3 อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี หลังได้รับแจ้งข้อมูลว่าบนถนนเส้นนี้ มีต้นเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปช้างติดตั้งอยู่ โดยเทศบาลตำบลท่าม่วง ได้ใช้เงินจัดซื้อจัดจ้างในราคาต้นละเกือบ 140,000 บาท

การติดตั้งเสาไฟรูปช้างเหล่านี้ เกิดขึ้นในปี 2562 โดย นายพิสิษฐ์ กาญจนภิญพงศ์ นายกเทศมนตรี ในขณะนั้น ได้ใช้จ่ายเงินสะสมของเทศบาลตำบลท่าม่วง เกือบ 11 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ ถวายความจงรักภักดี เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 ประกอบไปด้วย การจัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 1 ซุ้ม ราคา 3,600,000 บาท การทำเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปช้าง 39 ต้น รวมเป็นเงิน 5,356,000 บาท การทำสเปรย์น้ำระบบจัดการฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน จำนวนเงิน 1,949,100 บาท และการทำป้ายโครงการเฉลิมพระเกียรติ 2 ด้าน 1 ป้าย ในราคา 50,000 บาท

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อคิดคำนวณจำนวนเงินเกือบ 11 ล้านบาท ที่ถูกนำมาใช้ เกินกว่าครึ่ง จ่ายไปกับการจัดทำเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปช้าง มีรายละเอียดสเปกเนื้องานวัสดุเป็นไฟเบอร์กลาสอะลูมิเนียม ทั้งหมดนี้เหมาะสมกับราคาที่คิดเฉลี่ย ต้นละ 137,333 บาท หรือไม่ ซึ่งในมุมมองของอดีตผู้ว่า สตง. ในฐานะผู้มีประสบการณ์งานตรวจสอบ สะท้อนว่าปัจจุบันสามารถคำนวณต้นแบบและวางมาตรการในการบริหารหรือใช้เงินได้ โดยที่ราคาจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความคุ้มค่า

จากการลงพื้นที่ของ คอลัมน์หมายเลข 7 ยังพบว่าบนถนนสาธารณะในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลท่าม่วง ยังมีเสาไฟรูปช้างอีกจำนวนไม่น้อยที่ติดตั้งอยู่ และขณะนี้เริ่มมีสภาพชำรุดเสียหาย

นายกเทศมนตรีตำบลท่าม่วง ชี้แจงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากสภาพการใช้งาน ซึ่งติดตั้งมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว พร้อมกับตอบคำถามการใช้เงินงบประมาณของเทศบาลติดตั้งเสาไฟประติมากรรมที่มีราคาแพงกว่าเสาไฟปกติหลายเท่า

ที่ผ่านมา คอลัมน์หมายเลข 7 ได้รับเรื่องร้องเรียนในประเด็นซ้ำ ๆ เรื่องเสาไฟฟ้าสารพัดประติมากรรม ราคาแพง ใช้จ่ายจากเงินสะสม บนข้อกังขา คุ้มค่า เป็นไปตามความต้องการของประชาชน หรือมีเงินทอนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายการจะจับให้ได้ ไล่ให้ทัน ว่ามีการแสวงหาประโยชน์เกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแทบทุกโครงการอ้างทำถูกต้องตามกฎระเบียบ ที่เห็นชัดเจนว่ามีช่องว่าง โดยเฉพาะเรื่องการใช้เงินสะสมที่เปิดกว้าง จนแยกได้ยากระหว่าง "จำเป็น" กับ "ฟุ่มเฟือย" เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ต้องเรียกร้องไปยังรัฐบาล หากจริงจังสกัดทุจริต ถึงเวลาหรือยังต้องปรับกฎเกณฑ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง