สอท แนะ 7 ขั้นตอน ป้องกันสรรพากรเก๊หลอกประชาชนยื่นภาษีประจำปี

สอท แนะ 7 ขั้นตอน ป้องกันสรรพากรเก๊หลอกประชาชนยื่นภาษีประจำปี

View icon 145
วันที่ 24 ม.ค. 2566 | 08.06 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ตำรวจไซเบอร์ แนะ 7 ขั้นตอน ป้องกันมิจฉาชีพอ้างเป็นสรรพากรหลอกลวงประชาชนยื่นภาษีประจำปี ไม่กดลิงก์ ติดตั้งโปรแกรมจากผู้อื่นส่งให้ และไม่โอนเงิน หรือทำธุรกรรมใดๆ ผ่านแอปพลิเคชันจากลิงก์ หรือผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) พร้อมทั้งห้ามกรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ โดยเด็ดขาด

วันนี้ (24 ม.ค.66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เตือนภัยมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ต่างๆ สร้างความน่าเชื่อ ก่อเหตุหลอกลวงประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

ในช่วงเดือนม.ค.ถึงเดือนมี.ค.ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาให้ประชาชนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/91) ซึ่งมิจฉาชีพก็จะฉวยโอกาสในช่วงเวลาดังกล่าว แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ติดต่อไปยังประชาชนหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ โทรศัพท์เข้ามาหลอกลวงเป็นขบวนการ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) หรือส่งข้อความสั้น (SMS) หลอกให้กดลิงก์แอดไลน์เพิ่มเพื่อน แล้วให้ติดตั้งโปรแกรมของกรมสรรพากรปลอม หรือแอปพลิเคชันกรมสรรพากรปลอม หรือให้กรอกข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงิน โดยอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น เพื่อเป็นการตรวจสอบรายได้ของท่าน หรือแจ้งเตือนให้ท่านชำระภาษี หรือให้ทำการยกเลิกเสียภาษีจากโครงการคนละครึ่ง หรืออ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้เสียภาษีย้อนหลังได้ ผ่านแอปพลิเคชันกรมสรรพากรปลอมดังกล่าว นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังมีการใช้สัญลักษณ์ของสรรพากร และเอกสารราชการปลอม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า รูปแบบการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวมิจฉาชีพจะใช้วิธีการเดิมๆ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องไปตามสถานการณ์ หรือวันเวลาให้เข้ากับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ เช่น ช่วงที่มีภัยพิบัติธรรมชาติ ก็อาจจะสร้างเรื่องมาหลอกรับเงินบริจาค หรือช่วงที่มีข่าวการชำระค่าปรับจราจร ก็จะสร้างเรื่องมาข่มขู่ว่าถ้าไม่ชำระจะถูกออกหมายจับดำเนินคดี มิจฉาชีพมักจะอาศัยความไม่รู้ ความโลภ ความกลัว ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง โดยยืนยันทุกคนทุกวัยสามารถตกเป็นเหยื่อได้หมด อย่างไรก็ตาม บช.สอท. ยังคงมุ่งมั่นปราบปราม กดดัน จับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และขอฝากไปยังภาคประชาชนช่วยแจ้งเตือน ซึ่งกันและกันหรือรายงานไปยังหน่วยงานรัฐ หากพบแอปพลิเคชันปลอม หรือลิงก์ปลอมน่าสงสัย เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ   

ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1.เมื่อรับโทรศัพท์ หรือได้รับข้อความ ให้ตั้งสติ ตรวจสอบให้ดีว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจริงหรือไม่ โดยตรวจสอบจากหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ (Call center) จากหน่วยงานนั้นๆ เป็นหลัก

2.โดยปกติ หน่วยงานภาครัฐไม่มีนโยบายที่จะติดต่อประชาชนทางโทรศัพท์หรือ การส่งข้อความสั้น (SMS) หากมีการติดต่อ ให้ขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อติดต่อกลับหน่วยงานนั้นๆ ด้วยตนเอง

3.ไม่กดลิงก์ หรือติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม โดยหากต้องการใช้งานขอให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น

4.ไม่ติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงไม่กดโฆษณา หรือหน้าต่าง (Pop-up) ปลอม (Adware) บนเว็บไซต์ที่เข้าเยี่ยมชมเพราะอาจเสี่ยงต่อการฝัง หรือติดตั้งมัลแวร์จากมิจฉาชีพ

5.หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่ส่งต่อกันมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และให้ตรวจสอบทุกครั้งก่อนที่จะติดตั้ง

6.ไม่โอนเงิน หรือทำธุรกรรมใดๆ ผ่านแอปพลิเคชันผ่านลิงก์ หรือผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัญชีธนาคารที่ใช้ชื่อของบุคคลธรรมดา

7.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันที่เข้ามาในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด