คุมประพฤติ เสนอศาลสั่งติดกำไล EM 29 นักโทษคดีทางเพศ-รุนแรง ตามกฎหมาย JSOC

คุมประพฤติ เสนอศาลสั่งติดกำไล EM 29 นักโทษคดีทางเพศ-รุนแรง ตามกฎหมาย JSOC

View icon 144
วันที่ 25 ม.ค. 2566 | 17.56 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เสนอศาลสั่งติดกำไล EM 29 นักโทษคดีทางเพศ-รุนแรง ตามกฎหมาย JSOC พร้อมปล่อยล็อตแรกหลังพ้นโทษ 4 คน ขณะที่คุมประพฤติ ห่วงนักโทษอาการทางจิต ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขอใช้มาตรการทางแพทย์เข้ารับการรักษาหลังปล่อยตัว พร้อมประสาน อาสาคุมประพฤติ ฝ่ายปกครอง-ตำรวจเฝ้าระวัง

หลังจากพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 หรือ JSOC มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 66 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมและสร้างความปลอดภัยให้สังคม รวมถึงแก้ปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำนั้น

ล่าสุด วันนี้ (25 ม.ค.66) พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เผยกับทีมข่าว Ch7 HD News ว่า คณะกรรมการกำหนดพิจารณากำหนดมาตรการการกระทำความผิดซ้ำ หรือคณะกรรมการตามมาตรา 16 ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการแก่นักโทษเด็ดขาดในคดีทางเพศและคดีความรุนแรง ซึ่งจะพ้นโทษได้รับการปล่อยตัว ระหว่างวันที่ 24 ม.ค.-31 ม.ค.นี้จำนวน 29 คน โดยในจำนวนนี้จะมีนักโทษกลุ่มแรก 4 คนที่พ้นโทษได้รับการปล่อยตัว ส่วนที่เหลือก็จะทยอยได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำจนถึงปลายเดือน ม.ค.

โดยที่ประชุมมีมติกำหนดให้นักโทษเด็ดขาดตามมาตรา 3 จำนวน 29 คนที่จะพ้นโทษ ให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ เช่น เสนอให้ติดกำไล EM ทุกคน เพื่อสะดวกในการติดตามและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน โดยจะชี้แจงความจำเป็นในการติดกำไล EM ต่อศาล รวมทั้งพิจารณาให้ใช้มาตรการทางแพทย์ในบางคน เนื่องจากพบว่ามีนักโทษบางคนใช้ยาเสพติดและดื่มเหล้าเป็นประจำ อาจทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขณะที่มีนักโทษ 2-3 คน มีอาการทางจิต จึงต้องเสนอให้ญาติพาไปรักษาและรับยาต่อเนื่อง แต่ไม่มีมาตรการฉีดไข่ฝ่อ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพนักงานอัยการพิจารณามาตรการที่คณะกรรมการฯ เสนอ ก่อนยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งว่านักโทษเด็ดขาดเหล่านี้ จะถูกกำหนดให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษตามมติของคณะกรรมการหรือไม่อย่างไร ซึ่งอัยการอาจจะพิจารณาปรับลดหรือเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังก่อนยื่นคำร้องต่อศาล และศาลสามารถใช้ดุลพินิจปรับลดหรือเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังได้เช่นกัน

สำหรับมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษกฎหมายกำหนดให้ทำได้ไม่เกิน 10 ปี เบื้องต้นคณะกรรมการเสนอใช้มาตรการเฝ้าระวังสูงสุดไม่เกิน 2 ปี แต่ก็สามารถปรับลดระยะเวลาเฝ้าระวังได้ตลอด หากพบว่าผู้ถูกเฝ้าระวังให้ความร่วมมือและมีพฤติกรรมดีขึ้น แต่ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลสั่ง คณะกรรมการฯ ก็ขอให้ศาลขยายระยะเวลาเฝ้าระวัง หรือเปลี่ยนเป็นมาตรการคุมขังแทนได้ มีกำหนดไม่เกิน 3 ปี

“มีกลุ่มนักโทษที่มีอาการทางจิต 2-3 คน ซึ่งเราเป็นห่วง แต่ก็ยืนยันว่าเฝ้าระวังเต็มที่ โดยกำไลอีเอ็มจะแจ้งความเคลื่อนไหวทุก 2 นาที อีกทั้งมีอาสาสมัครคุมประพฤติในพื้นที่ช่วยเป็นหูเป็นตาให้ นอกจากนี้ ยังมีฝ่ายปกครองและตำรวจ รวมถึงญาติช่วยติดตามด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังเสนอของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตาม”

อย่างไรก็ตาม หากศาลไต่สวนและมีคำสั่งไม่ทัน เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษก็ต้องปล่อยตัวไปก่อน และศาลจะเรียกมาไต่สวน เพื่อมีคำสั่งในภายหลัง หากไม่มาตามที่ศาลนัดก็อาจถูกออกหมายจับ หรือใช้กระบวนการอื่นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง