สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 178
วันที่ 26 ม.ค. 2566 | 20.06 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.22 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายพฤฒิไกร ไกรพิพัฒน์ ประธานกรรมการมูลนิธิ "กรพิพัฒน์" เพื่อการศึกษา นำคณะผู้บริหารโครงการเดิน-วิ่งการกุศล มินิมาราธอน 2562 ชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดการแข่งขันดังกล่าว สมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา

รองศาสตราจารย์สุปรียา ควรเดชะคุปต์ พร้อมครอบครัว เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการทำงานหลังเกษียณอายุราชการ โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำผู้บริหารราชบัณฑิตยสภา และคณะกรรมการบริหารอินเตอร์แนชันนัล ยูเนียน ออฟ อะคาเดมีส์ เฝ้าทูลละอองพระบาท ในโอกาสที่จะเดินทางมาประชุมคณะกรรมการบริหารองค์กรปราชญ์ระหว่างประเทศ ในฐานะแขกของราชบัณฑิตยสภา

เวลา 16.19 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จออกแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลฯ

สาขาการแพทย์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ศาสตราจารย์ สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีผลงานการศึกษากลไกการเกิดโรคเบาหวาน และพิสูจน์ได้ว่าโรคอ้วน โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมถึงพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการดูดน้ำตาลกลับที่ไตเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางขนส่งร่วมระหว่างเกลือโซเดียมและน้ำตาลกลูโคส การศึกษาดังกล่าว ทำให้ยาเมทฟอร์มิน (metformin) และยาในกลุ่มที่ยับยั้งการดูดกลับน้ำตาลผ่านช่องทางขนส่งร่วมที่ไต เป็นที่ยอมรับให้ใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ ยังนำเสนอแนวทางการรักษาโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล (personalized treatment) ซึ่งได้รับการนำไปใช้ศึกษาต่อยอด และเป็นแนวทางที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างแพร่หลาย ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยและการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังลดลงทั่วโลก ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตผู้ป่วยเบาหวานหลายร้อยล้านคน

สาขาการสาธารณสุข นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา, ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ นักวิจัยดีเด่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และรองหัวหน้าห้องปฏิบัติการมะเร็งระดับเซลล์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ ไม่สามารถมาเฝ้าทูลละอองพระบาทได้ จึงพระราชทานพระราชานุญาตให้ นางสาวแอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลแทน

นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี และ ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และค้นพบว่าโปรตีนหลักของอนุภาคไวรัสของฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส สามารถประกอบร่างกันได้เองเป็นอนุภาคคล้ายไวรัส (VLP) ซึ่งสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสได้ดี และศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ ค้นพบกลไกการประกอบร่างของอนุภาคคล้ายไวรัสนี้เช่นกันระหว่างทำการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย นำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตอนุภาคคล้ายไวรัสจากโปรตีนรีคอมบิแนนท์ และพัฒนาวัคซีนต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นงานต่อยอดของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2548 และรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 ซึ่งค้นพบเชื้อฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส (เอชพีวี) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส ที่ได้นำไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก และช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส และลดการเสียชีวิตได้จำนวนมาก

โอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัสความว่า "ในการดูแลสุขภาพอนามัยของมวลมนุษยชาตินั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนในบางโรค มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาโรคโดยตรง ดังเช่นผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ที่ได้ศึกษาพยาธิสรีรวิทยาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 จนสามารถรักษาและควบคุมโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ กับผลงานของนายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ อันเป็นงานที่ต่อยอดจากผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสฮิวแมนแปบปิลโลมา หรือ เอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสชนิดนี้ได้สำเร็จ และได้นำไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน จึงขอแสดงความนิยมชื่นชมด้วยอย่างยิ่ง ที่ทั้งสี่ท่านได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 ทั้งเต็มใจยินดีที่จะกล่าวว่า ผลงานอันเกิดจากความวิริยอุตสาหะและเสียสละอดทนของทุกท่านทั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ให้แก่การแพทย์และการสาธารณสุขของโลก ก่อให้เกิดประโยชน์อันไพศาลแก่มวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง"

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เสด็จออกแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 และคู่สมรสฯ สำหรับปีพุทธศักราช 2565 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 88 ราย จาก 34 ประเทศ คณะกรรมการรางวัลนานาชาติฯ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2564, 2563, 2562 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิรางวัล ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานพิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย

ข่าวอื่นในหมวด