สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ดังนี้

View icon 143
วันที่ 26 ม.ค. 2566 | 20.07 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 07.50 น. วันนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บรมราชินีนาถ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ศูนย์ศัลยกรรม และการผ่าตัดผ่านลำกล้อง เพื่อวางยาสลบสุนัข ชื่อแช็บเตอร์ พันธุ์ปอมเมอเรเนียน เพศผู้ อายุ 3 ปี เข้ารับการผ่าตัดทำหมัน พร้อมแก้ไขภาวะไส้เลื่อนที่สะดือ และภาวะทองแดง โดยทรงให้ยานำสลบทางหลอดเลือด ทรงใช้ยาดมสลบเพื่อคงภาวะการสลบตลอดเวลาการผ่าตัด พร้อมทรงติดตามเฝ้าระวังสัญญาณชีพเพื่อทรงประเมินความปลอดภัยระหว่างการผ่าตัด

ภาวะไส้เลื่อนพบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก ที่บริเวณสะดือ ขาหนีบ ถุงอัณฑะ และข้างทวารหนัก ภาวะไส้เลื่อนที่สะดือเกิดจากผนังกล้ามเนื้อบริเวณสะดือมีช่องว่าง ทั้งเป็นมาแต่กำเนิด และเกิดขึ้นภายหลัง เช่น ถูกกระแทกบริเวณช่องท้อง ทำให้เยื่อไขมันในช่องท้อง หรืออวัยวะภายในช่องท้องลอดผ่านช่องว่างออกมาจนเนื้อเยื่อรอบสะดือมีอาการปูดบวม ซึ่งอาจหายเองได้ในสุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่หากมีอาการรุนแรงต้องผ่าตัดดันอวัยวะที่ลอดออกมา กลับเข้าช่องท้อง และเย็บปิดช่องว่าง ในกรณีที่ไม่รุนแรงสุนัขจะไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่ในกรณีที่รุนแรง เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่ไหลออกมาเกิดการบิดและพันกัน จะทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นได้ ทำให้เนื้อเยื่อตาย สุนัขจะมีอาการปวด บวม ร้อน แดงบริเวณที่มีไส้เลื่อน รวมถึงมีอาการอาเจียน เบื่ออาหาร ซึม มีไข้ ส่งผลให้ตายได้ หากพบสัตว์เลี้ยงมีอาการดังกล่าว หรือสะดือมีความผิดปกติ ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อประเมินอาการ และรับการรักษาโดยเร็ว

เวลา 12.00 น. เสด็จไปยังอาคารสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ทรงบรรยาย เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง : อองโคจีเนซิส (Oncogenesis) พระราชทานแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ชั้นปีที่ 1 และ 2 สาขาวิชาพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพประยุกต์ : อนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ปีการศึกษา 2565 เป็นครั้งที่ 3

โดยทรงบรรยายในหัวข้อ "การควบคุมการเพิ่มจำนวนของเซลล์และการเกิดเซลล์ตาย และ เมแทบอลิซึม (Metabolism) ของเซลล์มะเร็ง" เกี่ยวกับความสำคัญของวัฏจักรของเซลล์ หรือวงจรการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งมี 4 ระยะ แต่ละระยะจะมีจุดที่ตรวจสอบและควบคุมความถูกต้อง และคุณภาพการทำงานของเซลล์ ความสำคัญของกระบวนการส่งสัญญาณเข้าสู่เซลล์ ที่นำไปสู่การตอบสนองของเซลล์ ภาวะที่เซลล์เข้าสู่ความชราภาพ หรือ ซีเนสเซนส์ (senescence) และอะพอพโตชิส (apoptosis) หรือ กระบวนการตาย ซึ่งปกติร่างกายจะควบคุมให้มีความสมดุล หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการควบคุมจะนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้

การที่เซลล์มะเร็งแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องปรับรูปแบบกระบวนการทางชีววิทยาของเซลล์ ซึ่งประกอบด้วยปฏิกิริยาต่าง ๆ ตามลำดับเพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้นำเข้าสารอาหารเพิ่มมากขึ้น สำหรับนำไปสร้างสารที่จำเป็น รวมถึงพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการของเซลล์มะเร็ง ความเข้าใจเรื่องชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนกลไกในแต่ละขั้นตอน หรือกระบวนการเจริญเติบโต การเพิ่มจำนวนเซลล์ จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็ง การพัฒนายา และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนหัวข้อ "กลไกการเกิดพยาธิสภาพ ของมะเร็งในระดับโมเลกุล และระดับเซลล์ : กุญแจไปสู่การรักษาในอนาคต" ซึ่งปัจจุบัน มีการใช้เทคนิคการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลง และแสดงออกของยีนต่าง ๆ ในผู้ป่วยแต่ละคน ที่แยกความแตกต่างของมะเร็งแต่ละชนิดในระดับยีนได้ ทำให้การพยากรณ์โรคมีความแม่นยำ ช่วยให้แพทย์เลือกแผนการรักษาและยาที่ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของโรค ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ทรงยกตัวอย่างความเป็นมาของการพัฒนายา กลีเวค (Gleevec) ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดชนิดเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นยาตัวแรกที่พิสูจน์ความสำเร็จของการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าข้อมูลพันธุกรรมที่จำเพาะมากของมะเร็ง ทำให้มีการพัฒนาหาแนวทางการรักษาด้วยยาตำแหน่งต่างกันในเซลล์มะเร็ง อันนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้านมะเร็งในอนาคต

ความรู้เรื่อง "การเกิดโรคมะเร็ง : อองโคจีเนซิส" ที่ทรงบรรยายได้สร้างความรู้ความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานการเกิดโรค กลไกการเกิดพยาธิสภาพของมะเร็ง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จนถึงการพัฒนายาที่มีคุณสมบัติเฉพาะเพื่อนำไปสู่การรักษาแบบมุ่งเป้า ซึ่งเป็นความหวังที่จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และอาจทำให้หายขาดได้

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง