รายงานพิเศษ : ป้ายทะเบียนรถในประเทศไทยมี 14 รูปแบบ

View icon 482
วันที่ 29 ม.ค. 2566 | 04.15 น.
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - ป้ายทะเบียนรถในประเทศไทย มีหลายสีเหลือเกิน และมีมากกว่า 10 รูปแบบ แต่ละสีไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่บ่งบอกถึงการใช้งาน ติดตามจากรายงานจากคุณปทิดา รื่นสุคนธ์ 

ป้ายทะเบียนรถยนต์ เสมือนเอกสารที่ทางราชการออกให้เป็นป้ายสัญลักษณ์ที่ทำจากแผ่นโลหะ ระบุหมวดตัวอักษรและตัวเลข เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือ ยานพาหนะนั้น ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนประเภทรถ ที่ต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก คือรถทุกชนิด ที่จะนำมาใช้งานบนท้องถนน

เริ่มที่ แบบที่ 1 ป้ายทะเบียนรถสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ ใช้สำหรับ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง, รถกระบะ 4 ประตู และรถจักรยานยนต์ ส่วนบุคคล

แบบที่ 2 ป้ายทะเบียนรถสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีน้ำเงิน แบบนี้คือ รถนั่งส่วนบุคคลที่มีที่นั่งมากกว่า 7 ที่นั่ง เช่น รถตู้ หรือรถอเนกประสงค์ขนาดใหญ่

แบบที่ 3 ป้ายทะเบียนสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ จะใช้กับ รถยนต์ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่บรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 7 ที่นั่ง

แบบที่ 4 และยังมีป้ายทะเบียนรถ พื้นขาว ตัวหนังสือดำ หมวดอักษร ท แบบนี้ใช้สำหรับรถคณะผู้แทนทางการทูต ซึ่งจะมีรหัสประเทศอยู่ด้วย

แบบที่ 5 ส่วนป้ายทะเบียนรถสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีเขียว คือ รถบรรทุกส่วนบุคคล เช่น รถกระบะ หรือรถบรรทุกขนาดเล็ก ซึ่งตรงนี้ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลง ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ยื่นขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์บริการได้ หรือสามารถเปลี่ยนจดทะเบียน

แบบที่ 6 เป็นป้ายสีเขียวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีขาวหรือดำเพื่อใช้บริการ รถบริหารธุรกิจ รถบริการให้เช่า เพื่อช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

แบบที่ 7 ป้ายทะเบียนรถสีแดงสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ คือ ป้ายทะเบียนรถที่กรมการขนส่งทางบกออกไว้ให้ใช้ชั่วคราว เพื่อแสดงว่ารถยนต์คันดังกล่าวยังไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งจะมีข้อจำกัดในการใช้งานคือไม่เกิน 30 วัน และห้ามใช้งานในช่วงเวลาหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน

แบบที่ 8 ป้ายทะเบียนรถสีฟ้าไม่สะท้อนแสง ตัวหนังสือสีขาว คือ ป้ายทะเบียนรถพิเศษที่ใช้สำหรับบุคคลในหน่วยงานพิเศษของสถานทูต สถานกงสุล หรือองค์กรระหว่างประเทศ<< อักษร พ คือ หน่วยงานพิเศษในสถานทูต, อักษร ก คือ คณะผู้แทนกงสุล, อักษร อ คือ องค์กรระหว่างประเทศ>>

แบบที่ 9 ป้ายทะเบียนรถสีส้มสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ คือ ป้ายทะเบียนรถสำหรับใช้ทางเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น รถแทรกเตอร์ รถไถ

แบบที่ 10 ยังมีป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีแดง จะใช้กับรถรับจ้างที่ให้บริการเส้นทางระหว่างจังหวัด

แบบที่ 11 เป็นป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีน้ำเงิน แบบนี้ใช้กับ รถยนต์ 4 ล้อเล็กที่วิ่งรับจ้าง

แบบที่ 12 ส่วนป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีเขียวแบบนี้ คนกรุงเทพฯ เห็นกันบ่อย ๆ เพราะใช้กับรถยนต์รับจ้าง 3 ล้อ เช่น รถตุ๊กตุ๊ก และยังมีรถลีมูซีนที่สนามบิน

แบบที่ 13 ป้ายทะเบียนรถที่มีลวดลายกราฟิก คือ ป้ายทะเบียนรถหมายเลขพิเศษที่มาจากการประมูล

และแบบที่ 14 ป้ายทะเบียนรถ อักษรพิเศษ ที่กวาดเงินประมูลไปแบบล้นหลาม

รถยนต์หรือยานพาหนะต่าง ๆ ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้ว ก็ควรใช้งานรถให้ตรงกับประเภทของป้ายทะเบียนนั้น หากมีการใช้งานที่ผิดประเภท จะถือว่ามีความผิด เช่นเดียวกับการใช้ป้ายทะเบียนซีด สีป้ายทะเบียนจาง เพราะทำให้ไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ปทิดา รื่นสุคนธ์ ทีมข่าวเศรษฐกิจรายงาน