ยังเป็นประเด็นดรามาระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง กรณีดาราสาวชาวไต้หวัน อายุ 32 ปี โพสต์แฉในสื่อออนไลน์ อ้างตำรวจไทยรีดไถเงิน ตอนเธอเข้าด่านตรวจหน้าสถานเอกอัครราชทูตจีนฯ เรื่องนี้น่าจะจบเร็ว ๆ นี้ เพราะจิกซอว์จากหลักฐานพยานต่าง ๆ เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
ผมลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคดี แต่พาคุณผู้ชมมาสำรวจการตั้งด่านของตำรวจ ที่เป็นชนวนของปัญหาที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งความจริงอาจต้องบอกว่า ด่านตำรวจกับคนไทยนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากันอยู่ บางคนถึงขั้นตัดพ้อเรื่องปัญหาการตั้งด่านของตำรวจกับเราเลยทีเดียว
ด้วยเหตุที่ด่านตำรวจมีหลายรูปแบบ แต่ความรับรู้ของประชาชนไม่ได้ลงลึกขนาดนั้น จากที่สำรวจส่วนใหญ่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ทราบว่าแบบไหนที่เรียกได้อย่างเต็มปากว่า เป็นด่านตรวจจริง ๆ เพราะบางครั้งก็เจอการตั้งด่านที่ไม่มีสัญลักษณ์แสดงได้อย่างชัดเจนว่า นี่คือด่านตำรวจ
ด่านที่เราพาคุณผู้ชมลงพื้นที่นี้ ถูกตั้งขึ้นโดยกองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร ตั้งด่านกันที่บริเวณถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 25
แต่หากจะเรียกให้ถูกต้องจะต้องเรียกด่านนี้ว่า "จุดตรวจ" ซึ่งรูปแบบการตั้งด่านของตำรวจไทยนั้นจะมีด้วยกันอยู่ 3 รูปแบบ และแยกเป็น 2 ลักษณะการทำงาน คือ เพื่อกวดขันวินัยจราจร และ ตรวจค้นเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรม
ด่านส่วนมากที่เรามักพบเจอกันอยู่ประจำ คือ จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ จุดตรวจกวดขันวินัยจราจร ซึ่งสามารถตั้งได้ตลอดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบในพื้นที่เขตนั้น ๆ
ถึงแม้จะดูเหมือนว่าการตั้งด่านเป็นเรื่องที่จำเป็นและเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนโดยส่วนรวม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีการแสวงหาประโยชน์แฝงตัวอยู่ด้วย เป็นบทสะท้อนไปหาผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย มีด่านตรวจเพื่อความมั่นคงดี แต่ตำรวจจะฝ่าด่านตรวจตำรวจนอกรีตอย่างไร ยังเป็นคำถามที่สังคมรอคำตอบ