เอกสารสำเนาทะเบียนบ้าน ข้อมูลจำนวนรายชื่อนักเรียน เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่ผู้ร้องนำมาแสดงอ้างอิงกับคอลัมน์หมายเลข 7 ระบุว่า โรงเรียนเอกชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ส่อทุจริตเบิกเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียน โดยที่ห้วงเวลาของการทุจริตนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
รูปแบบกลโกงการทุจริตเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชน คือ การปลอมแปลงเอกสารแก้ปีเกิดของเด็กนักเรียนที่ยังอายุไม่ถึง ไปปรับเปลี่ยนให้เข้าเกณฑ์ เพื่อยื่นสิทธิ์รับเงินอุดหนุนรายหัวที่รัฐจัดสรรให้เป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ซึ่งในปีดังกล่าวเงินสนับสนุนจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 กว่าบาท
และมีการอ้างบรรจุแต่งตั้งครูในโรงเรียน เพื่อเบิกเงินสมทบเงินเดือนครู ทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จริง
คอลัมน์หมายเลข 7 ลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนเอกชนดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลท่าม่วง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง
ได้รับคำตอบจากคณะครูในโรงเรียนว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และผู้บริหารติดธุระ ไม่สะดวกให้สัมภาษณ์
ขณะที่ปัจจุบัน ที่นี่มีนักเรียนจำนวน 748 คน และครูอีก 48 คน
สำหรับข้อมูลที่ชี้ถึงปัญหานี้อย่างชัดเจน คือ ในปีการศึกษา 2560 ซึ่งเรามีเอกสารที่เป็นหลักฐานว่าเกิดปัญหาการปลอมเอกสาร เพื่อให้นักเรียนที่ไม่มีสิทธิ์ ได้รับสิทธิ์เงินอุดหนุน ซึ่งพิรุธนี้ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี ก็รับทราบแล้ว
และมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น จนพบว่ามีนักเรียนที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนประจำปีการศึกษา 2560 จำนวน 271 คน รวมเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ที่ถูกเบียดบังไปสูงกว่า 7 ล้านบาท
ในเดือนพฤศจิกายน 2561 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี จึงมีหนังสือเรียกคืนเงินจำนวนดังกล่าวจากทางโรงเรียนฯ แต่ผ่านมา 4 ปีกว่าแล้ว เงินแม้แต่แดงเดียวก็ยังไม่มีการส่งคืนกลับไป
เกิดคำถามว่า ความไม่โปร่งใส ที่นำไปสู่ความเสียหายเช่นนี้ ส่วนกลางรับรู้บ้างหรือไม่ เราจึงตรวจสอบต่อไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ก็เพิ่งทราบเรื่องจากการทวงถามของคอลัมน์หมายเลข 7 แต่ได้รับคำยืนยันว่าไม่ปล่อยผ่านแน่นอน
ในทุกปีรัฐจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก เพื่ออุดหนุนด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชน การบริหารจัดการจึงต้องรัดกุม ไม่ปล่อยให้เกิดช่องว่างจนเกิดการแสวงหาประโยชน์ หากินกับการศึกษาของเด็ก
และกรณีนี้ควรต้องย้อนข้อมูลตรวจสอบอย่างจริงจัง รวมถึงมีบทลงโทษที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจำนวนเท่าไหร่ ก็คือเงินงบประมาณและภาษีของประชาชน และการปราบทุจริตควรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ปราบทุจริตด้วยคำพูด