นโยบายเน้นการกู้ง่าย ดอกต่ำ ระวังผลลบระยะยาว

นโยบายเน้นการกู้ง่าย ดอกต่ำ ระวังผลลบระยะยาว

View icon 51
วันที่ 31 ม.ค. 2566 | 16.14 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะมาวิเคราะห์นโยบาย “หนี้” ของพรรคการเมืองต่างๆ 

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลายพรรคการเมืองกำลังเสนอนโยบายสารพัดเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ผ่านการทำให้คนขอกู้ง่ายขึ้น และหวังว่าจะช่วยลดหนี้นอกระบบ

ในช่วงใกล้มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองต่างๆ ย่อมแข่งขันกันเสนอนโยบายที่ดึงดูดคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด และในการแข่งขันรอบนี้ นโยบายที่ถูกนำเสนอกันมาก เป็น นโยบายเกี่ยวกับ “หนี้”

ในช่วงโควิด มีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากเกิดขึ้น บางพรรคมองว่าประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงโควิดนี้ จะมีผลต่อการได้รับเงินกู้จากระบบสถาบันการเงินในอนาคต ส่งผลให้คนไปกู้นอกระบบมากขึ้น  ทำให้มีการเสนอลบประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงโควิด เพื่อให้คนที่เคยผิดนัดชำระหนี้สามารถขอกู้หลังโควิดได้

ซึ่งทาง #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด เคยเขียนบทความอธิบายแล้วว่า การปรับเปลี่ยนข้อมูลเครดิต อาจทำให้เกิดปัญหาข้อมูลเกี่ยวกับลูกหนี้ที่ไม่ครบถ้วน ทำให้ผู้ที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลยและมีความพยายามรักษาสถานะลูกหนี้ดีในช่วงโควิด ต้องเสียประโยชน์และรับผลกระทบจากปัญหาการมีข้อมูลไม่ครบถ้วน (ข้อมูลเครดิตที่ถูกลบออกไป) เช่น จ่ายอัตราดอกเบี้ยเท่ากับผู้ที่เคยผิดนัดชำระหนี้ในช่วงโควิด ทำให้ลูกหนี้ที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้ตรงเวลา

บางพรรคการเมืองเสนอวิธีการแก้หนี้เสียในระบบ หรือการมีหนี้นอกระบบจำนวนมาก ด้วยการสร้างช่องทางปล่อยเงินกู้ที่ง่ายขึ้น ไม่มีการค้ำประกัน หรือเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด 

แม้จะเป็นวิธีที่อาจทำให้ธุรกิจรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และหนี้นอกระบบที่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป กลับมาเป็นหนี้ในระบบ แต่ในความเป็นจริง ระบบการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้นอกระบบอยู่แล้ว แต่กลับพบว่ามีหนี้นอกระบบมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะกลุ่มลูกหนี้นี้มีประวัติที่สะท้อนว่ามีความเสี่ยงสูง มีความสามารถในการชำระหนี้คืนต่ำ และอีกส่วนหนึ่งเพราะความไม่รู้

การกู้นอกระบบนั้น นอกจากเสียอัตราดอกเบี้ยสูงแล้ว ผู้กู้มักต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือบุคคลค้ำประกัน

ความจริงแล้ว ในเมื่อมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน ผู้กู้ก็สามารถขอกู้จากสถาบันการเงินได้ แม้จะเป็นผู้มีความสามารถในการชำระหนี้คืนต่ำ แต่เพราะการขาดความรู้หรือกระบวนการขอสินเชื่อที่ซับซ้อน คนจำนวนหนึ่งจึงหันไปกู้เงินนอกระบบที่เน้นขั้นตอนสั้น ได้เงินเร็ว

อย่างไรก็ดี การกู้ง่าย ได้เงินรวดเร็ว เก็บดอกเบี้ยต่ำ อาจนำไปสู่การปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวัง มีการเติบโตของสินเชื่อที่ไม่มีความจำเป็น ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น สังคมและเศรษฐกิจเปราะบางมากขึ้น   

บางพรรคก็เสนอให้มีการพักหนี้เป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งดูเหมือนจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังเริ่มฟื้นตัว อันเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น

การนำรายได้ที่มีเพิ่มขึ้นไปผ่อนชำระหนี้ลดเงินต้น ย่อมดีกว่าเป็นหนี้ค้างนานและสร้างนิสัยทางการเงินที่ไม่ดี นั่นคือ เป็นหนี้ แต่ไม่จ่าย แม้มีรายได้ก็นำไปใช้จ่ายอย่างอื่น หรืออาจไปลงทุนที่มีความเสี่ยงเพื่อหวังผลตอบแทนสูงก่อน หรือที่เรียกว่าปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรม (moral hazard) คนจะคาดหวังว่านโยบายเช่นนี้เมื่อเคยออกใช้แล้ว ก็จะมีการออกใช้อีก ทำให้ในที่สุด ระบบการเงินก็จะไม่มีใครยอมปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะต้องแบกรับภาระที่เกิดจากคนไม่ยอมจ่ายหนี้จนกว่าจะหมดระยะเวลาพักหนี้

จะเห็นว่านโยบายเหล่านี้ ดูจะให้ความสำคัญกับการสร้าง “หนี้ใหม่” ได้ง่ายขึ้น ทั้งที่ ประเทศไทยกำลังมี “หนี้ครัวเรือน” ที่อยู่ในระบบการเงินอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่แล้ว และอาจทำให้คนไทยขาดวินัยทางการเงินและมีนิสัยทางการเงินที่ยิ่งทำให้มีการก่อหนี้มากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในระยะยาว

การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอาจต้องศึกษาอย่างรอบคอบเพื่อระบุสาเหตุที่ถูกต้อง และจัดการกับสาเหตุนั้น แทนการเน้นการสร้างหนี้ใหม่ เช่น ต้องส่งเสริมให้คนไทยมีวินัยทางการเงิน รู้จักบริหารการใช้จ่ายให้น้อยกว่ารายได้ พร้อมๆ กับการสร้างกลไกให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอหรือมากกว่าค่าครองชีพ รวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ให้กู้นอกระบบและผู้กู้นอกระบบเพื่อลดการกระทำผิดกฏหมายและลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการมีหนี้นอกระบบ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง