วันนี้ (31 ม.ค.66) แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยหลัง กกต.มีมติเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งจะต้องดำเนินการทุกครั้ง เมื่อมีการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไป ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนจาก 350 เขต มาเป็น 400 เขต ทันทีที่ร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ กกต.จังหวัดทุกจังหวัดรวมถึง กกต.กทม. ต้องนำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เตรียมไว้ อย่างน้อย 3 รูปแบบ ปิดประกาศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย คือ พรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด เป็นเวลา 10 วัน นับแต่วันปิดประกาศ
แต่ละรูปแบบจะต้องประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอ หรือตำบล หรือเขตพื้นที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง แต่ละเขต จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง จากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ สส. หนึ่งคนในจังหวัดนั้น เหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง และแผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง
แหล่งข่าวระบุต่อว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลา ทาง กกต.แต่ละจังหวัด จะต้องนำความคิดเห็นของประชาชนทุกคนและทุกพรรคการเมืองที่เสนอ มาประมวลเพื่อวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ให้เรียบร้อยภายใน 3 วัน จากนั้นจึงนำเสนอสรุปรายงานเสนอเข้าที่ประชุม กกต. ผ่านทางเลขาฯ กกต. เพื่อพิจารณาตามขั้นตอน
เบื้องต้นคาดว่ากระบวนการของจังหวัดจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 20 วัน ขั้นตอนหลังจากนั้น ที่ประชุม กกต.ต้องพิจารณาเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่เหมาะสม และตรงตามหลักเกณฑ์มากที่สุด คำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวก การคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ข้อสรุปครบถ้วนทุกจังหวัดทั้ง 400 เขตแล้ว ให้ประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กกต.จะประชุมเพื่อพิจารณาการแบ่งเขตเป็นครั้งแรก ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566นี้
ผู้สื่อข่วยังรายงานว่าในวันเดียวกันนี้ นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต. ได้ลงนามในหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง สส. และจำนวน สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป