ศาลอุทธรณ์สั่งปรับ บ.ฟิลลิป มอร์ริสฯ เลี่ยงภาษีบุหรี่ ลดลงเหลือ 2.4 เท่า ตามกฎหมายใหม่ พร้อมให้ศุลกากรคำนวณจำนวนเงินอีกครั้ง ยกฟ้อง ส่วนอดีตพนักงานบริษัทจำเลยที่ 2 เชื่อไม่มีส่วนรู้เห็น
วันนี้ (31 ม.ค.66) ที่ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.232/2560 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด โดย นายเจอรัลด์ มาร์โกลีส ผู้จัดการสาขา ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด และอดีตพนักงานบริษัทหญิงคนไทย เป็นจำเลยที่ 1-2 ฐานร่วมกันนำเข้าบุหรี่ที่มีแหล่งผลิตในต่างประเทศ เข้าราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี เพื่อฉ้อค่าภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ม.27, 115 จัตวา
คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 22 ม.ค.2545 -14 ส.ค.2546 จำเลยที่ 1-2 กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้นำตัวมาฟ้องอีกหลายคน ร่วมกันนำบุหรี่ 2 ยี่ห้อเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และได้ร่วมกันสำแดงเท็จโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงและอุบายด้วยการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร กรมศุลกากรเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งรวมราคาเป็นเท็จไม่ตรงตามราคาที่แท้จริงและถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร จำนวน 780 ครั้ง เหตุเกิดที่เขตบางรัก, เขตคลองเตย กรุงเทพฯ, สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และด่านศุลกากรอื่นๆอีกหลายที่ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และประเทศอินโดนีเซีย ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.63 ว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลได้มีการแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำผิดโดยยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ และมีบทกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่า แต่ไม่เกิน 4 เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่นั้นเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า ตามกฎหมายจึงนำมาพิจารณา และพิพากษาว่า ให้ปรับบริษัท ฟิลลิปมอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จำเลยที่ 1 ตามอัตรากฎหมายที่แก้ไขใหม่ เป็นเงินทั้งสิ้น 130,145,870 บาท ส่วนพนักงานบริษัทหญิงคนไทย จำเลยที่ 2 ศาลเห็นว่าไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในทางบริหาร หรือมีส่วนกำหนดนโยบายเรื่องการนำเข้าหรือ จัดจำหน่ายบุหรี่ในไทยของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อมาอัยการโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์
โดยวันนี้ นายเจอรัลด์ มาร์โกลีส ผู้จัดการสาขา ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด, ผู้แทนนิติบุคคลบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด และอดีตพนักงานบริษัท จำเลยที่ 1-2 พร้อมล่ามแปลภาษา ทนายความและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เดินทางมาคำฟังคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนัก การกระทำของบริษัท ฟิลลิปมอร์ริสฯ จำเลยที่ 1 เป็นการสำแดงเท็จ และเป็นการนำสินค้าประเภทบุหรี่เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่าอากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ตาม เห็นควรแก้ไขค่าปรับเสียใหม่ ซึ่งอัยการยื่นฟ้องให้ปรับ 4 เท่า แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลมีกฎหมายใหม่ที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า ประกอบกับจำเลยที่ 1 ให้การเป็นประโยชน์ จึงพิพากษาเป็นว่าให้ปรับ บริษัท ฟิลลิปมอร์ริสฯ จำเลยที่ 1 ตามอัตรากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จำนวน 2.5 เท่า โดยให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปคำนวณค่าอากรเป็นจำนวนเงินที่แท้จริงอีกครั้ง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงพนักงานบริษัทไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิด ไม่ได้มีอำนาจกำหนดราคาของบุหรี่ทั้ง 2 ยี่ห้อแต่อย่างใด จึงพิพากษายกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภายหลัง นายเจอรัลด์ ในฐานะตัวแทนของบริษัท ฟิลลิปมอร์ริสไทย จำเลยที่ 1 กล่าวว่า ขอขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมกับอดีตพนักงานที่ได้รับการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม และรู้สึกยินดีที่ศาลให้ความเป็นธรรมกับบริษัทเราด้วยการลดค่าปรับลง ซึ่งศาลให้เหตุผลว่าบริษัทให้ความร่วมมือในการสืบสวนมาโดยตลอด ตนยืนยันว่าทางบริษัทเคารพการตัดสินของศาล เพราะเราเชื่อว่าการสำแดงราคาของเรานั้นถูกต้องและสอดคล้องกับการกำหนดราคาของศุลกากร เพราะกว่า 10 ปีหน่วยงานของศุลกากรของไทยและต่างชาติ ศาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้า เคยพิจารณาราคาที่ทางบริษัทเราสำแดงและมีคำสรุปในแนวทางเดียวกันว่าทางบริษัทสำแดงราคาอย่างถูกต้อง เราเชื่อมั่นว่าเรามีข้อมูลหลักฐานข้อโต้แย้งที่หนักแน่นพอจะทำให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำตัดสินได้ อย่างไรก็ตามขอกลับไปดูสำนวนพิพากษาในวันนี้อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจอีกครั้งว่าทางบริษัทจะฎีกาหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีเลี่ยงภาษีบุหรี่ ซึ่งเป็นคดีหลักที่ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ กับพวกรวม 8 คน ถูกพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 1-8 คดีหมายเลขดำ อ.185/2559 ฐานหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรหลายยี่ห้อนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ฯ ชำระค่าปรับ 1,225,990,671.50 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลดค่าปรับเหลือ 121,578,788 บาท