ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (3 ก.พ.66) ว่า เริ่มแล้วงานมหกรรมหุ่นฟางนกและของดีศรีทองถิ่นจังหวัดชัยนาท ครั้งที่ 38 ประจำปี 2566 ที่จังหวัดชัยนาทจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-12 กุมภาพันธ์ 2566 ที่บริเวณสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติและเขื่อนเรียงหิน หน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการนำฟางข้าว เศษวัสดุเหลือใช้จากนาข้าว มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาท
ปีนี้ หุ่นฟางนกนานาชนิด ที่มีขนาดความสูง 4-7 เมตร มากกว่า 40 ตัว บางตัวสามารถขยับปีกขยับหางส่งเสียงร้องได้ ยังจัดแสดงตกแต่งอยู่ในสวนป่า ประดับไฟสีสันสวยงามตระการตาเหมือนเดิม แต่ที่เป็นไฮไลต์ของงานในปีนี้ และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไม่แพ้หุ่นฟางนก นั่นก็คือ หุ่นฟางหนุมานยักษ์ ที่มีขนาดความสูง 4 เมตร ยาว 10 เมตร นอนอ้างปากกว้าง เป็นซุ้มประตู ให้นักท่องเที่ยวแวะถ่ายรูป ก่อนจะเดินเข้าปากหนุมาน ไปชมความสวยงามของหุ่นฟางนก
ส่วนขบวนแห่หุ่นฟางนก และขบวนแห่วัฒนธรรมพื้นบ้าน ของหน่วยงานราชการ และของทั้ง 8 อำเภอ ปีนี้ก็จัดมาโชว์กันอย่างยิ่งใหญ่ หุ่นฟางนกที่นำมาโชว์ในขบวนแห่ นอกจากจะมีสีสันสวยงามแล้ว บางตัวยังต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตามธีมของหน่วยงานนั้นๆ อย่างเช่น ขบวนแห่ของตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท มาในธีมรณรงค์สวมหมวกกันน๊อกในการขับขี่รถจักรยานยนต์ หุ่นฟางนกจึงต้องสวมหมวกกันน๊อก แถมยังคาบกุญแจมือมาด้วย
ส่วนขบวนแห่ของอำเภอเนินขาม มาในธีมโปรโมตทะเลชัยนาทหาดหนองโรง แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอ หุ่นฟางนกจึงต้องสวมแว่นตากันแดด สวมเสื้อชูชีพมาด้วยเพื่อความปลอดภัยเวลาลงเล่นน้ำ
ส่วนขบวนแห่ของอำเภอสรรคบุรี ยังคงมาในธีมเชิดชู “ขุนสรรค์” หนึ่งในวีรชนผู้กล้าแห่งค่ายบางระจัน ที่เมื่อขบวนขุนสรรค์เคลื่อนไปคราใด จะต้องมีการยิงปืนใหญ่ให้ดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่ว ส่วนคนที่รับบท ขุนสรรค์ ที่ยืนเป็นรูปปั้นบนอนุสาวรีย์ค่ายบางระจัน ทาสีดำมาทั้งตัว ยืนนิ่งถือปืนยาวไม่ไหวติง ขนาดตายังแทบจะไม่กระพริบ ยิ่งช่วงที่ทำการแสดงบริเวณหน้าศาลากลาง เป็นเวลานาน 10 นาที ขุนสรรค์ยังคงยืนนิ่ง แสดงเป็นรูปปั้นอนุสาวรีย์ได้อย่างสมจริง จนคนดูชื่นชม แต่พอจบการแสดง ก็ขอขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถนิดหน่อย ก่อนจะยืนนิ่งให้ขบวนเคลื่อนออกไป
ทั้งนี้ งานมหกรรมหุ่นฟางนกและของดีศรีท้องถิ่นจังหวัดชัยนาท จะมีไปจนถึงวันที่ 12 ก.พ. 2566นี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมความสวยงามของหุ่นฟางนก ผลงานสร้างสรรค์จากฝีมือชาวบ้าน ที่นำฟางข้าว วัสดุเหลือใช้จากท้องนา มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปหัตถกรรม สวยงามเสมือนจริง จนสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดชัยนาท