รู้ไว้กฎหมาย #ทำแท้ง มีการแก้ไข ไม่ได้มีผลให้การทำแท้งเสรี แต่ทำให้หญิงที่ #ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ถูกกฎหมายและปลอดภัยได้มากขึ้น
ประเทศไทยมีกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับการทำแท้งใช้มานานแล้ว แต่กฎหมายฉบับเดิม กำหนดให้ผู้หญิงที่ทำแท้งมีโทษทางอาญา กระทั่งได้มีการแก้ไขมาตรา 301 และ 305 เปิดช่องให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้ไม่มีความผิด หากเป็นการยุติการตั้งครรภ์โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
นอกจากนี้ กฎหมายยังเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดในการทำแท้งให้ครอบคลุมมากขึ้น โดย 5 เหตุผลทำแท้งตามกฎหมายที่ไม่มีความผิด ถ้าทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หญิงยินยอม และดำเนินการตามข้อบังคับแพทย์สภา ได้แก่
1. มีครรภ์ต่อไปแล้วจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายและจิตใจของหญิงตั้งครรภ์
2. มีความเสี่ยงมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์ที่เชื่อได้ว่าถ้าทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
3.มีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ
4. อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และหญิงยืนยันทำแท้ง
5. อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขประกาศกำหนดฯและหญิงยืนยันทำแท้ง
ดังนั้น การทำแท้งที่นอกเหนือจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้มีผลทำให้ทำแท้งได้เสรี แต่เป็นการทำแท้งได้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงอันตรายจากการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อน