ขยี้ข่าวใหญ่ : ยาบ้า ต้นเหตุความรุนแรงในสังคม

View icon 373
วันที่ 5 ก.พ. 2566 | 12.01 น.
ข่าวเด็ด 7 สี
แชร์
ข่าวเด็ด 7 สี - ข่าวใหญ่ที่นำมาขยี้วันนี้ ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ การเปิดศึกกับยาเสพติดของ คุณอนุทิน ออกมาประกาศดัง ๆ บนเวทีปราศัยของพรรคภูมิใจไทย ถึงการแก้กฎกระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้ที่ครอบครองยาบ้า 1 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ แต่ถ้ามากกว่า 1 เม็ด เป็นผู้ค้า เพื่อให้การขายยาบ้าทำได้ยากขึ้น ท่ามกลางเสียงแตกในสังคม ทั้งเรื่องคนล้นคุก จำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น จะไม่เพียงพอต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ และช่องว่างที่อาจกลายเป็นการเปิดทางทุจริตของตำรวจไม่ดี

ยาบ้า ต้นเหตุความรุนแรงในสังคม
ต้องยอมรับว่า หลายเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเรา มียาบ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่น้อยที่มีคนเมายาบ้า คลั่งยา โดยที่คนในครอบครัวเอง เป็นผู้ถูกกระทำ หรือคนรอบข้าง สังคม ชุมชน ต้องได้รับความเดือดร้อนรำคาญ 

อย่างกรณีที่เกิดขึ้น วันศุกร์ที่ผ่านมา ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ชายอายุ 39 ปี เสพยาบ้า อาละวาด หลอนยา ทุบตี ทำร้ายคนเป็นพ่อ อายุ 63 ปี สุดท้ายผู้เป็นพ่อทนไม่ไหว ใช้เหล็กคานเตียงฟาดไปที่หน้าผาก จนลูกทาสยาบ้าเสียชีวิต พ่อเดินไปมอบตัวกับตำรวจ ถูกดำเนินคดี กลายเป็นเรื่องเศร้าในครอบครัว

อนุทิน ประกาศศึก ยาบ้า ครอบครองมากกว่า 1 เม็ด สันนิษฐานเป็นผู้ค้า
ซึ่งนี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเปิดศึกกับยาเสพติด เดินหน้าร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งมีการปรับปรุง การครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ด ถือเป็นผู้ค้า ด้วยเหตุผลเป็นห่วงเยาวชน ความมั่นคงของครอบครัวและสังคม จึงต้องมีมาตรการเด็ดขาด 

โดยจากเดิมที่กำหนดให้ผู้เสพ คือ ผู้ครอบครองไม่เกิน 15 เม็ด จากนั้นก็ลดลงเหลือ 5 เม็ด แต่ยังเป็นช่องว่างให้ผู้ค้ารายย่อยเลี่ยงบาลี ส่งยาบ้าทีละเล็ก ทีละน้อย พอถึงเวลาถูกจับ ก็ไม่ต้องติดคุก แต่ไปเข้ารับการบำบัดแทน จึงต้องแก้กฎกระทรวงฯ ให้ผู้เสพมีแค่ 1 เม็ด เพื่อให้ผู้ค้าเห็นว่า มันไม่คุ้มค่ากับการถูกจับกุม คุมขัง

ส่วนเสียงแย้ง มองว่า จะเป็นการผลักให้ผู้เสพที่ถือว่าเป็นผู้ป่วย กลายไปเป็นผู้ค้า และถูกคุมขัง แทนที่จะถูกนำไปบำบัด ถือเป็นการปิดโอกาสกลับคืนสู่สังคม และอาจทำให้นักโทษคดียาบ้าล้นคุก

หลังจากนี้ คงต้องรอดูว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เมื่อไร

หลายคนสงสัยว่า หากมีการปรับให้ครอบครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้ค้า แล้วการดำเนินคดีจะเป็นไปในรูปแบบใด

ป.ป.ส. ชี้ครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ด ยังต้องพิสูจน์ว่าเพื่อเสพ หรือ เพื่อค้า
คุณวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. อธิบายให้ฟังว่า หากมีการแก้กฎกระทรวงฯ และเจ้าหน้าที่ไปตรวจพบยาบ้าไม่เกิน 1 เม็ด ผู้ต้องหาจะเลือกได้ว่า จะสมัครใจเข้ารับการบำบัดหรือถูกดำเนินคดี โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท

แต่หากพบครอบครองเกิน 1 เม็ดขึ้นไป ไม่มีทางเลือก จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างเดียว เมื่อถูกจับกุม จะถูกแจ้งข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง นำตัวส่งพนักงานสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐาน ว่า การครอบครองนั้น มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อเสพ ก่อนส่งอัยการฟ้องศาลต่อไป
 
พูดง่าย ๆ ก็ไม่ใช่ว่า ทุกคนที่ครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ด จะถูกตีว่า เป็นผู้ค้าทั้งหมด มีเรื่องดุลยพินิจเจ้าพนักงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และนี่คือสิ่งที่เขาดักคอกันไว้ว่า จะเป็นช่องโหว่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์หรือไม่

ซึ่งงานที่มากขึ้น ทางเลขาธิการ ป.ป.ส. ยังกังวลว่า อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องการสืบทรัพย์ เพื่อยึดอายัดทรัพย์

แต่ละปีมีการจับยาบ้าได้มากน้อยแค่ไหน ไล่มาตั้งแต่ปี 2561 จับได้ 454 ล้านเม็ด, ปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 521 ล้านเม็ด, ปี 2563 ลดลงมาเหลือ 327 ล้านเม็ด, ปี 2564 จับได้จำนวน 580 ล้านเม็ด และปีที่แล้ว 504 ล้านเม็ด

จับกุมยาบ้าได้มากขนาดนี้ และจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดจะมากน้อยแค่ไหน ไล่ดูตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 พบว่า มีผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติด เข้ารับการบำบัดกว่า 229,568 คน ซึ่งปี 2561-2563 ก็จะอยู่ที่หลัก 200,000 กว่าคน พอปี 2564 ผู้เข้ารับการบำบัดลดเหลือ 167,488 คน และปีที่แล้ว ก็ลดลงมาอีกเหลือ 122,000 กว่าคน

ผู้เสพยาบ้า ไอซ์ เข้ารับบำบัดมากที่สุด
ลงพื้นที่ไปสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี หรือ สบยช. นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สถาบันฯ บอกว่า เฉพาะที่นี่แห่งเดียว ปีที่แล้ว มีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู 3,251 คน ส่วนใหญ่เป็นคนติดยาบ้าและไอซ์ เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ชาย

ที่นี่มีครบทั้งการบำบัดด้วยยา ต่อด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพ และติดตามหลังการรักษา

บำบัดยาเสพติด คืนชีวิตใหม่
ได้พูดคุยกับผู้ที่ผ่านการบำบัดจากที่นี่ พบว่า บางคนกลับไปตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือจนจบปริญญาโท และกลับมารับราชการ หรือเป็นพนักงานราชงานที่ สบยช. เพื่อกลับมาช่วยดูแล รักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ที่ยังรอโอกาสอีกจำนวนมาก

อย่าง พี่เทิดศักดิ์ ที่ได้ไปพูดคุยด้วย และได้รับอนุญาตให้เปิดหน้าถ่ายทำได้ บอกว่า ติดยาเสพติดหลายชนิด รวมระยะเวลาที่ติดยา 14 ปี จนวันที่ถูกตำรวจจับตรวจปัสสาวะพบสารเสพติด ก็เข้าสู่กระบวนการบังคับบำบัด จนพลิกชีวิตตัวเอง กลับมาเป็นคนใหม่ได้ 14 ปีแล้ว และไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยานรกพวกนั้นอีก

กฎหมายที่กำลังปรับแก้ อาจเป็น 1 ในตัวช่วยให้ยาบ้าหายากขึ้น ราคาแพงขึ้น คนเสพน้อยลง เพราะได้ไม่คุ้มเสียกับการเดินยาเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เสี่ยงต่อการถูกจับกุมคุมขัง

งานท้าทายต่อจากนี้ คือ ปัญหานักโทษล้นคุก จะเป็นจริงหรือไม่ ช่องว่างเรื่องการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ จะทำให้เกิดการทุจริตมากขึ้นหรือเปล่า และที่สำคัญไปกว่ากฎหมาย คือ การสกัดตั้งแต่ต้นทาง ไม่ให้คนในครอบครัวของเราเข้าสู่วังวนของยาเสพติด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง