ก.การคลัง หนุนมาตรการภาษีจ้างงานผู้สูงอายุ

View icon 70
วันที่ 7 ก.พ. 2566 | 04.15 น.
เช้าข่าว 7 สี
แชร์
เช้าข่าว 7 สี - มาถึงเรื่องวัยเก๋า เดี๋ยวนี้คุณผู้ชมจะเห็นว่า กลุ่มวัยเก๋าที่อายุ 60 ปี บางคนดูไม่ออก บางคนทั้งร่างกาย และผิวพรรณ บอกเลยว่า ไม่น่าเชื่อ ว่าจะอายุ 60 ปี แล้ว แตกต่างจากในอดีตมาก ๆ คนอายุ 60 ปีนี่ร่างกายเสื่อมโทรม เป็นคนแก่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ใครว่าอายุ 60 ปีแก่ นี่มีโกรธ นี่แหละเป็นเหตุผล ที่ทางกระทรวงการคลังเตรียมผลักดันหนุนการจ้างงาน กลุ่มวัยเก๋า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เริ่มตั้งแต่ ปี 2548 ไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ตัวเลข ณ ตอนนั้น คือ ในประชากร 100 คน มีผู้สูงอายุมากกว่า 10 คน ปัจจุบันใน 100 คน จะเป็นผู้สูงอายุ 19 คน คิดเป็นตัวเลขเท่ากับ 12.5 ล้านคน

ยิ่งมาเจอกับภาวะการเกิดลดลง และคนมีอายุยืนยาวขึ้น ก็คาดการณ์กันว่า ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นอีก และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ "ระดับสุดยอด" ในปี 2577 ตอนนั้น ในคน 100 คน จะเป็นผู้สูงอายุมากถึง 28 คน

การเปลี่ยนแปลงนี้ จะทำให้แรงงานหนุ่มสาวขาดแคลน จนทำให้ต้องจ้างแรงงานผู้สูงอายุมากขึ้น ภาครัฐจึงต้องเร่งหามาตรการสนับสนุน คือ หากจะให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ กระทรวงการคลังก็จะดูว่า จะใช้มาตรการภาษีอย่างไรได้บ้าง เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า จะจ้างคนสูงอายุไปทำงานแบกหาม หรือใช้แรงงาน แต่จะจ้างในฐานะคนที่มีประสบการณ์ให้สอนงาน ซึ่งในต่างประเทศ อย่างที่ญี่ปุ่น มีการจ้างผู้สูงอายุในอาชีพต่าง ๆ หลากหลาย หลายประเทศก็ขยายอายุวัยเกษียณ เป็น 65-70 ปี แล้ว 

นอกจากชนิดของงาน เพดานเกษียณอายุแล้ว เรื่องการออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ ก็มีการเสนอให้เพิ่มเพดานเงินสะสมของสมาชิก กองทุนการออมแห่งชาติ จากกว่า 13,000 บาทต่อปี เป็น 30,000 บาทต่อปี ปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบของรัฐบาล จากเพดานสูงสุด 1,200 บาทต่อปี เป็น 1,800 บาทต่อปี เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง