พบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ "ปลาซีลาแคนธ์" ครั้งแรกในไทยที่มุกดาหาร อายุราว 145-66 ล้านปี

พบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ "ปลาซีลาแคนธ์" ครั้งแรกในไทยที่มุกดาหาร อายุราว 145-66 ล้านปี

View icon 184
วันที่ 23 ก.พ. 2566 | 10.52 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (23 ก.พ.66) เพจเฟซบุ๊ก “รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล” ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รายงานการค้นพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ของ “ปลาซีลาแคนธ์” ที่บ้านคำพอก อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ครั้งแรกในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ร่วมกับคณะวิจัยชาวต่างชาติ สามารถระบุได้ว่าซากดึกดำบรรพ์ที่พบ เป็นกระดูกด้านหลังขากรรไกรล่าง รหัสตัวอย่าง PRC 160  ของปลาซีลาแคนธ์ในกลุ่มมอว์โซนิด อายุครีเทเชียสตอนต้น แต่ด้วยข้อจำกัดของกระดูกที่พบเพียงชิ้นเดียวจึงไม่สามารถระบุรายละเอียดได้มากกว่านี้

สำหรับปลาซีลาแคนธ์ หรือ Coelacanth เป็นปลาดึกดำบรรพ์ที่ดำรงชีวิตมาตั้งแต่มหายุคพาลีโอโซอิก ในช่วงตอนกลางของยุคดีโวเนียน หรือประมาณ 393-382 ล้านปีที่แล้ว และยังคงหลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบัน ปลากลุ่มนี้มีลักษณะเด่น คือครีบที่มีลักษณะเป็นพู่เนื้อขนาดใหญ่ 4 ครีบ ซีลาแคนธ์กลุ่มมอว์โซนิดเป็นพวกที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด ในช่วงตอนต้นของมหายุคมีโซโซอิก ในยุคไทรแอสซิกประมาณ 251-201 ล้านปีที่แล้ว ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ในยุคจูแรสซิกตอนปลาย ประมาณ 163-145 ล้านปีก่อน พบว่าปลากลุ่มนี้เปลี่ยนแหล่งอาศัยไปอยู่ในทะเล และมีการเปลี่ยนแหล่งอาศัยกลับมาอยู่ในแหล่งน้ำจืด เมื่อเข้าสู่ยุคครีเทเชียสราว 145-66 ล้านปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ปลาซีลาแคนธ์ของไทยที่ค้นพบตัวนี้ เคยว่ายอยู่ในแม่น้ำโบราณร่วมกับฉลามน้ำจืดกลุ่มไฮโบดอนต์ (Hybodonts) ปลาน้ำจืดไทยอิกธิส (Thaiichthys buddhabutrensis) เต่ายักษ์บาซิโลคีลิส (Basilochelys macrobios) และพญาจระเข้ชาละวัน (Chalawan thailandicus) ด้วย โดยดูรายงานการวิจัยได้ที่ https://www.mdpi.com/1424-2818/15/2/286

พบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ปลาซีลาแคนธ์ ครั้งแรในไทยที่มุกดาหาร อายุราว 145-66 ล้านปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง