อย่าวางใจ! มีไข้ ปวดหู หูแน่น ๆ อื้อ ๆ เป็นอาการหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันอันตรายกว่าที่คิด

อย่าวางใจ! มีไข้ ปวดหู หูแน่น ๆ อื้อ ๆ เป็นอาการหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันอันตรายกว่าที่คิด

View icon 4.3K
วันที่ 28 ก.พ. 2566 | 13.52 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ภัยร้ายอันตรายกว่าที่คิด สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย มักจะเป็นพร้อมไข้หวัด คออักเสบ มีอาการเป็นไข้ ปวดหู แน่นหู หูอื้อ ได้ยินลดลง รีบหาหมอก่อนเป็น อัมพาตบนใบหน้า เยื้อหุมสมองอักเสบ

วันนี้ (28 พ.ก.2566) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน โรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีอาการอักเสบของหูชั้นกลางซึ่งอยู่ระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นใน เชื้อที่เป็นสาเหตุการอักเสบอาจจะเป็นเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียก็ได้ มักพบร่วมกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่  คออักเสบ ทอนซิลอักเสบ ซึ่งเชื้อมักจะผ่านจากจมูกและโพรงหลังจมูกไซนัสเข้าสู่หูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชียน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูกและหูชั้นกลาง

โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้มีน้ำขังในหูชั้นกลางหรือเยื่อแก้วหูทะลุได้ เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น อาการอักเสบอาจส่งผลให้โพรงกกหูอักเสบ หูชั้นในอักเสบ  อัมพาตบนใบหน้า เนื่องจากการอักเสบเรื้อรังส่งผลให้ใบหน้าบวมอาจทำให้เกิดแรงกดที่เส้นประสาทบนใบหน้าและเกิดปัญหาในการควบคุมกล้ามเนื้อ ,เยื่อหุ้มสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่เป็นอันตรายมาก หากการติดเชื้อลุกลามไปยังเยื่อหุ้มสมอง หรือทำให้เกิดฝีในสมองถ้าหากเชื้อแพร่กระจายไปที่สมอง

อาการโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
ปวดหูข้างที่เป็นอาจรู้สึกแน่น ๆ ภายในหูหรือมีเสียงดังในหู หูอื้อ ระดับการได้ยินลดลงโดยอาการดังกล่าวมักจะมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน อาการปวดหู มีไข้ และหูอื้อ จะลดลงหลังจากเยื่อแก้วหูทะลุและมีหนองไหลออกมาแล้ว สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังและเชื้อลุกลาม จะมีไข้ขึ้นสูง เวียนศีรษะ สูญเสียการทรงตัว เป็นต้น

แนวทางการรักษา
1. รักษาโดยยา ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ กำจัดเชื้อแบคทีเรียกินอย่างน้อย 10 – 14 วัน ยาแก้แพ้ ยาลดบวม เพื่อทำให้เยื่อบุบริเวณรูเปิดของท่อยูสเตเชียนยุบบวม ยาแก้ปวด ยาลดไข้ เท่าที่จำเป็น
2. การผ่าตัด เจาะเยื่อแก้วหูเพื่อระบายหนองในหูชั้นกลางออก ช่วยลดอาการปวดหูได้มาก มักทำในรายที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือมีภาวะแทรกซ้อน
3. การผ่าตัดโพรงกระดูกมาสตอยด์ มักทำในกรณีที่มีการอักเสบหรือมีหนองขังอยู่ภายในโพรงกระดูกมาสตอยด์ กรณีที่รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลด ปวดศีรษะมาก หูอื้อ ระดับการได้ยินลดลง มีน้ำหรือมีหนองไหลออกมาจากหู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง