ในยุคที่ใครๆ ก็ต้องการเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น ถ้าใช้คำพูดดีๆ ใครได้ยินก็ปลื้มใจ หากพูดเมาท์นินทากันคิดว่าสนุกๆ ขำๆ แต่กระทบคนอื่น ทำให้เสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็เข้าข่ายผิดหมิ่นประมาท ถูกฟ้องได้
การพูดนินทาเป็นเรื่องเป็นราวโดยที่ไม่ใช่เรื่องจริง หรือแม้จะเป็น “เรื่องจริง” แต่คำพูดนั้นทำให้บุคคลที่ถูกนินทาเสียหาย ก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ การกล่าวใส่ร้ายคนอื่นจะเจาะจงเอ่ยถึงชื่อบุคคลที่ 3 อย่างชัดเจน ระบุแค่อักษรย่อ ชื่อสมมุติ หรือไม่ได้ระบุชื่อเลย ถ้าพิจารณาจากพฤติการณ์ของผู้พูดแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่าผู้พูดหมายถึงใครก็เป็นความผิดเช่นกัน
ซึ่งคำพูดที่กล่าวให้ร้ายแม้เป็นคำสุภาพก็อาจจะเป็นหมิ่นประมาทได้ ในทางกลับกันข้อความที่ก้าวร้าว หยาบคาย ก็อาจจะไม่เป็นการหมิ่นประมาท โดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2562 ได้พิจารณาข้อความกล่าวใส่ร้ายไว้ว่า “ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงถึงขั้นทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาท น่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ ไม่ใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว”
และสำหรับคนเล่นโซเซียลที่เผลอๆ ทำมือลั่นโพสต์ข้อความแบบสาธารณะในเฟซบุ๊ก ในไลน์ หรือปิดประกาศ ลงหนังสือพิมพ์ ใช้ไมโครโฟน ออกอากาสทางวิทยุหรือโทรทัศน์ โดยพาดพิงบุคคลที่ 3 ให้เสียหายถูกเกลียดชัง จะถือว่าผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คือใส่ความเพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ มีโทษหนักขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี
ทั้งนี้ คดีหมิ่นประมาทมีอายุความ 3 เดือน เมื่อผู้เสียหายทราบว่าตัวเองถูกนินทาใส่ความจะต้องร้องทุกข์ต่อตำรวจหรือตั้งทนายฟ้องภายในระยะเวลาดังกล่าว หากไม่ดำเนินการจะถือว่าหมดอายุความ