คอลัมน์หมายเลข 7 : นโยบายพรรคการเมือง กับ ฐานะการคลังของประเทศ

View icon 80
วันที่ 6 มี.ค. 2566 | 20.14 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ความเข้มข้นในการแข่งขันเชิงนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณก็มากขึ้นตามไปด้วย การคุมกฎควรเป็นอย่างไร มีอะไรที่น่ากังวลหรือไม่ ติดตามในคอลัมน์หมายเลข 7

หลัง กกต. ประกาศจำนวน สส. และเขตเลือกตั้งไปแล้ว หลายคนอาจคิดว่า การยุบสภาฯ น่าจะเกิดขึ้นได้เลย แต่ในความเป็นจริง กกต. ยังต้องรับฟังความเห็นไปจนถึงวันที่ 13 มีนาคม จากนั้นในวันที่ 14-15 มีนาคม กกต. จะประชุมเพื่อกำหนดเขตเลือกตั้ง ก่อนส่งราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 16 - 17 มีนาคม และยังต้องให้เวลาพรรคการเมือง จัดทำไพรมารีโหวต ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน จึงเท่ากับการยุบสภา น่าจะเกิดขึ้นใกล้กับวันที่ 23 มีนาคม ที่เป็นวันครบวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน

ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นวันไหนของเดือนพฤษภาคม ก็ถือเป็นวาระของคนไทย ที่จะใช้อำนาจกำหนดอนาคต สร้างจุดเปลี่ยนให้กับประเทศ จึงทำให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกันทำโพลสำรวจความคิดเห็นตัวแทนประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ว่าอยากได้นักการเมือง พรรคการเมืองแบบไหน และนโยบายแบบใด

ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ทำวิจัยนโยบายพรรคการเมือง 9 พรรค 86 นโยบาย พบว่า ถ้าทำทุกนโยบายที่ไม่ซ้ำกันจะต้องใช้เงินมากถึง 3.14 ล้านล้านบาท เกือบจะเท่ากับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่กำหนดวงเงินไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท และในจำนวนนี้ มี 2 พรรคการเมือง ที่ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 2 ล้านล้านบาท แม้จะมีกฎหมาย 2 ฉบับ ควบคุมนโยบายประชานิยม แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าไร้ผลในทางปฏิบัติ เพราะ กกต.ไม่เคยจัดทำรายงานการวิเคราะห์  ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบ ความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายของพรรคการเมือง มาเปิดเผยต่อสาธารณชน ขณะที่การควบคุมการใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ก็ยังมีจุดอ่อน เกี่ยวกับนิยาม "เงินนอกงบประมาณ" ที่ไม่รวม สถาบันการเงินของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ เปิดช่องให้เกิดการล้วงเงินจากหน่วยงานเหล่านี้ โดยไม่ผ่านการตรวจสอบของรัฐสภา จึงเสนอให้ปิดจุดอ่อนของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับด้วย

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความคาดหวังไปที่ กกต. ให้ทำงานอย่างกล้าหาญ ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้คุ้มกฎได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองอย่างจริงจัง เพื่อให้การกำหนดนโยบายอยู่บนความรับผิดชอบต่อภาษีของประชาชน ไม่สร้างความเสียหายให้กับฐานะการคลังของประเทศ โดยมีการคาดการณ์ว่า เพื่อช่วงชิงอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร จะมีเงินสะพัด 50,000 - 100,000 ล้านบาท ในช่วงเลือกตั้ง

เงินไม่มา กาไม่เป็น เป็นคำพูดเชิงดูถูกประชาชนว่าซื้อได้ เลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นบทพิสูจน์พรรคการเมือง และ กกต. ที่เป็นผู้คุ้มกฎเท่านั้น แต่เป็นบทพิสูจน์ประชาชนด้วยว่า จะแปลงอำนาจที่มีในมือ เป็นเสียงสวรรค์ ด้วยการหยุดขายเสียง สร้างจุดเปลี่ยนให้กับประเทศได้หรือไม่