คอลัมน์หมายเลข 7 : ชำแหละปมฮั้วประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย

View icon 91
วันที่ 13 มี.ค. 2566 | 20.12 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 13 ราย กระทำทุจริตในการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จะมีคำชี้แจงอย่างไร และเหตุการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร จะส่งผลต่อหนี้สินติดค้างของ กทม. ที่คาราคาซังมานานแล้วหรือไม่ ติดตามกับ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข

เป็นเสียงยืนยันชัดเจนแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. กับพวกรวม 13 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้บริหารด้วยกันในขณะนั้น ทุจริตฮั้วประมูล ในการทำสัญญาว่าจ้างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบีทีเอส ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ที่เดิมทีจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 แต่ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ ได้มีการเซ็นสัญญาใหม่กับบีทีเอส โดยระบุให้ขยายออกไปถึงปี 2585 ในวงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท 

มติการแจ้งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริหารของ BTS ชี้แจงยืนยันว่าการทำสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการ และไม่ได้มีการฮั้วประมูลผูกขาดการเดินรถไฟฟ้าทั้งหมด พร้อมเตรียมที่จะแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้

ขั้นตอนของกฎหมายหลังจากนี้ เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ทางผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง 13 คน มีโอกาสที่จะชี้แจงและรวบรวมพยานหลักฐานมาสนับสนุนการชี้แจงเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ซึ่งทางองค์คณะก็จะพิจารณารวบรวม ชั่งน้ำหนัก ระหว่างพยานที่ได้มากับพยานที่ชี้แจง ก่อนพิจารณาสรุปสำนวนเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ได้มีแค่เรื่องการตรวจสอบ ที่คืบหน้าไปถึงขั้นแจ้งข้อกล่าวหาเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาคาราคาซังจากข้อพิพาทระหว่าง กทม. กับบริษัทฯ เรื่องหนี้สินค้างจ่าย 4.6 หมื่นล้านบาท เกิดคำถามว่า เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว จะกลายเป็นเหตุผลให้เกิดการชะลอจ่ายหนี้ให้บีทีเอสหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการหยิบยกเหตุผลสัญญาไม่ชอบมาแล้ว โดยมีปัจจัยต้องพิจารณา คือ หากจ่ายไปในขณะที่คดียังไม่จบ โดยที่ในภายหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดจริง จะเกิดความเสียหายใดหรือไม่ ในทางกลับกัน ถ้าชะลอการจ่ายในขณะที่คดียังไม่ถึงที่สุด จะกลายเป็นเหตุให้ กทม. ถูกฟ้องร้องหรือไม่ จึงเป็นโจทย์ที่ผู้บริหารต้องใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจ

ย้อนกลับไปโครงการนี้ ได้ผ่านมือของผู้บริหาร กทม. ตั้งแต่ นายสมัคร สุนทรเวช ที่เปิดให้เอกชนร่วมทุนแต่ไม่มีใครร่วมลงทุน จนมาเริ่มเจรจากับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบีทีเอส ให้ลงทุน และยุคของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่เปิดประมูล แต่ไม่มีรายใดเข้าประมูล จนกระทั่งมาถึงยุคของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ ที่ให้ กทม. ลงทุนงานโยธา และจ้างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เดินรถ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง