แรงกระเพื่อมจากการล้มของธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ ส่งผลให้หุ้นในตลาดโลกดิ่งลง แม้ว่าผู้นำสหรัฐฯ จะออกมาให้ความเชื่อมั่นแล้วว่า ระบบการเงินของสหรัฐฯ ยังคงปลอดภัย แม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะออกมาแถลงให้ความเชื่อมั่น ต่อสถานการณ์ของระบบการเงินของสหรัฐฯ
หลังธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) และ ธนาคาร ซิกเนเจอร์ ล้ม ว่าสหรัฐฯ จะทำทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อปกป้อง ระบบธนาคารของประเทศ และผู้เสียภาษีจะไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ แต่จะมาจากกองทุนเงินค่าธรรมเนียม ที่ทางการเก็บจากธนาคารต่าง ๆ
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ระบุว่าจะเสนอความช่วยเหลือ ผ่านโครงการ แบงก์ เทอม ฟันดิง (Bank Term Funding Program) เพื่อให้ธนาคารสามารถยืมเงินจากโครงการในช่วงวิกฤตได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังไม่มีความเชื่อมั่น โดยบรรยากาศที่บริเวณหน้าธนาคาร SVB ทั้งที่สำนักงานใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และสาขาต่าง ๆ ในสหรัฐฯ มีประชาชนจำนวนมากไปรอต่อแถว เพื่อถอนเงิน หลังทางการสหรัฐฯ ยืนยันว่า เงินฝากทั้งหมดได้รับการประกันเต็มจำนวน โดยบางรายไปรอต่อแถวหน้าธนาคารกันตั้งแต่เช้ามืด
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ของ เฟด ได้เข้าไปช่วยยืนยันความเชื่อมั่นกับประชาชน ที่มารออยู่หน้าธนาคาร ว่ากิจการของธนาคารจะดำเนินไปตามปกติ รวมทั้งการทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วย
ส่วนภาคธนาคารของสหรัฐฯ วานนี้ ธนาคารหลัก ๆ ของสหรัฐฯ สูญเสียมูลค่าในตลาดหุ้นไปราว 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้มูลค่าการตลาดหายไปเกือบ 190,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 3 รอบการซื้อขาย ขณะเดียวกัน ธนาคารระดับภูมิภาค ได้รับผลกระทบหนักสุด โดยหุ้นของธนาคาร เฟิร์ส รีพับลิก (First Republic Bank) ร่วงลงมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ ฝั่งยุโรป ดัชนีธนาคาร คอมเมิร์ซแบงก์ (Commerzbank) ของเยอรมนี ร่วงลงถึง 12.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนดัชนีธนาคาร สต็อกซ์ (STOXX) ของยุโรป ปิดร่วงลง 5.7 เปอร์เซ็นต์
ส่วนหุ้นธนาคาร ในฝั่งเอเชียตกลงอย่างมาก โดยการซื้อขายล่วงหน้า หุ้นธนาคารของตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange) ตกลง 7.4 เปอร์เซ็นต์ ต่ำสุดในรอบ 3 ปี
ส่วนดัชนีย่อยธนาคาร โทปิกซ์ (TOPIX) ของญี่ปุ่น ตกลงมากถึง 6.7 เปอร์เซ็นต์ ในการซื้อขายล่วงหน้า อยู่ในระดับต่ำสุด นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ส่วนดัชนี นิเคอิ (Nikkei) ตกลงจากเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) 2 เปอร์เซ็นต์