คอลัมน์หมายเลข 7 : นับถอยหลัง 5 เดือน ประเมินคืบหน้าเเก้ปัญหาประมง

View icon 74
วันที่ 14 มี.ค. 2566 | 20.13 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอด เกี่ยวกับกติกาที่เข้มงวด บังคับใช้กับการทำประมง เพื่อให้ไทยผ่านเกณฑ์การประเมินของสหภาพยุโรป หรือที่เรียกกันว่า IUU กับความอยู่รอดของอุตสาหกรรมประมง หลังมีการใช้กฎหมายเข้มข้น เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากธงเหลือง ซึ่งรัฐบาลก็ดำเนินการได้ตามเป้าหมายตั้งแต่ปี 2562 ทิศทางที่ไทยจะรักษาธงเขียวต่อไป กับทางรอดของอุตสาหกรรมประมง เป็นอย่างไร ติดตามในคอลัมน์หมายเลข 7 กับคุณมะลิ แซ่ฉิ่น

การแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายไร้การควบคุมโดยรัฐบาล คสช. มีการออกกฎหมายอย่างเข้มงวดและจับกุมอย่างจริงจัง ทำให้ที่สุด IUU ก็ประกาศปลดธงเหลืองของไทยให้กลับมาอยู่ในสถานะธงเขียว จนไทยได้รับการปลดสถานะกีดกันทางการค้าที่ถูกกีดกันหลายรายการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ก็ต้องแลกมาด้วยความอยู่รอดของอุตสาหกรรมประมง ที่แทบไปต่อไม่ได้ เนื่องจากสู้ไม่ไหวกับภาระต้นทุน และกติกาที่เข้มงวด

เมื่อไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินได้อีก ที่ผ่านมาจึงมีชาวประมงจำนวนมากทยอยประกาศขายเรือ และมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยซื้อเรือประมงที่จอดสนิทอยู่ริมทะเล รัฐบาลจึงต้องจัดสรรงบประมาณต่อเนื่อง เพื่อนำเรือประมงออกนอกระบบ โดยใช้งบประมาณไปแล้วเกือบ 1,000 ล้านบาท แต่คนในแวดวงอุตสาหกรรมประมงเองก็ยังมองว่าการเยียวยายังเป็นไปด้วยความล่าช้า และ การแก้ปัญหา IUU ณ วันนี้ ก็ยังเกาไม่ถูกที่คัน จึงเสนอให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติการทำประมง โดยปลดล็อกกฎหมายให้ชาวประมงกลับมายืนได้อีกรอบ เพราะกังวลว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อุตสาหกรรมประมงอาจถึงคราวอวสาน

นับจากนี้ไปอีก 5 เดือน เป็นเวลาที่ใกล้จะครบวงรอบที่ IUU จะเข้ามาทำการประเมินการทำประมงที่ผิดกฎหมายและไร้การควบคุมของประเทศไทยอีกครั้ง

ทั้งยังมีสัญญาณเตือนมาจากอียู ถึงมาตรการที่ถูกมองว่าหย่อนยาน เรื่องความไม่กล้าบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะว่าขาดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของหลักเกณฑ์ของการจับกุมเครื่องมือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการคัดกรองกลุ่มแรงงาน หรือ SOP ที่ยังมีขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้จำนวนของผู้ที่ผ่านการคัดกรองต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในขณะที่ความอยู่รอดของอุตสาหกรรมประมง ก็ยังเหมือนอยู่ในห้อง ICU

ท่ามกลางการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายและเสียงเรียกร้องของชาวประมง ยังมีส่วนที่ทางสมาคมประมงแห่งประเทศไทยและตำรวจมองตรงกัน นั่นคือภาคประมงต้องปรับตัว ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำประมงอย่างยั่งยืน ไม่ใช่มุ่งแต่การค้า ขณะเดียวกัน การกำหนดกติกาก็ไม่ควรมองว่าชาวประมงคือผู้ร้าย ความสำคัญจึงต้องไปหาสมดุลให้เจอรักษาธงเขียวไว้ให้ได้ ควบคู่ไปกับความอยู่รอดของอุตสาหกรรมประมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง