เลือกตั้ง 2566 : ครม.ทิ้งทวน หว่านแหหัวคะแนน หวังผลเลือกตั้ง ?

View icon 46
วันที่ 15 มี.ค. 2566 | 11.31 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ขอบสนามเลือกตั้งวันนี้ ชวนคุณผู้ชมมาสำรวจกันหน่อยว่า ปลายสมัยของรัฐบาล ในช่วงใกล้เลือกตั้งแบบนี้ เขาเคาะงบประมาณที่ถูกมองว่าเกี่ยวพันกับความได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมืองอย่างไร เรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึง คือ มีการซื้อใจหัวคะแนนล่วงหน้าหรือไม่ โดยพบว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ มี 3 กลุ่มใหญ่ ได้งบก้อนโตเพิ่มค่าตอบแทน 

เริ่มกันที่การอนุมัติสด ๆ ร้อน ๆ ของ ครม. เมื่อวานนี้ ในการเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้ระดับนายก อบต. และสมาชิก อบต. ทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันมีอยู่ 5,300 แห่ง โดยมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 75,000 บาทต่อเดือน มีผลวันที่ 1 ตุลาคมนี้ หลังจากที่ไม่ได้ปรับเงินค่าตอบแทนมานานกว่า 11 ปี หรือตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทน จะใช้งบประมาณจากรายได้ของ อบต. จากเดิมกว่า 9,500 ล้านบาท เป็นกว่า 13,000 ล้านบาท

แต่ ครม. สายเปย์ ก็ยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อวานมีการปรับเพิ่ม เงินค่าตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนันทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 290,000 อัตรา รวมงบประมาณอีกกว่า 4,700 ล้านบาทต่อปีด้วย

และหากยังจำกันได้ สัปดาห์ที่แล้ว ครม. ก็เพิ่งเทงบฯ เพิ่มค่าป่วยการให้ อสม. และ อสส. จากเดือนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจที่มากขึ้นของ อสม. และ อสส. ที่มีอยู่ในระบบกว่า 1.09 ล้านคน โดยใช้งบประมาณราว 13,081 ล้านบาท ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักอนามัย กรุงเทะมหานคร ก็จะเตรียมตั้งคำของบประมาณตั้งแต่ปี 2567 หรือประมาณเดือนตุลาคมนี้

จากการไฟเขียวอัดงบประมาณ หว่านแหกันรายสัปดาห์ ส่งเม็ดเงินตรงไปถึงคนทำงานใกล้ชิดประชาชน ที่ถูกมองว่า เป็นเหมือนหัวคะแนนกลาย ๆ ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการหวังผลทางการเมือง หวังโกยคะแนนเต็ม ๆ หรือไม่

เรื่องนี้ทีมข่าวตรวจสอบกับ รองศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ท่านวิเคราะห์เรื่องนี้ว่า ต้องมอง 2 มุม คือ มุมกว้าง ซึ่งแน่นอนว่า รัฐบาลทั่วโลก ไม่เฉพาะในไทย เมื่อเคยทำนโยบายใดก็หวังผลไว้อยู่แล้ว และอยากจะทำต่ออีก ส่วนมุมแคบ ก็จะล้อไปกับช่วงระยะเวลาสำคัญ เช่น การเลือกตั้ง ก็แน่นอนว่า มีการหวังผล แต่ก็ยังต้องดู 3 ปัจจัยประกอบ 

ฟังการตั้งข้อสังเกตถึงความได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมืองไปแล้ว มาฟังเหตุผลของฝั่งรัฐบาลกันบ้างว่า มีคำอธิบายอย่างไร ในการจัดงบก้อนโต เพิ่มค่าตอบแทนให้กับบุคลากร 3 กลุ่มนี้

สำหรับการเพิ่มค่าตอบแทนทั้ง 3 กลุ่ม เมื่อบวกตัวเลขดู ก็พบว่า จะต้องใช้งบประมาณราว ๆ 31,651.34 ล้านบาทต่อปี ส่วนการอนุมัติในช่วงปลายรัฐบาลแบบนี้ จะมีผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ยังต้องติดตามกันต่อ