“บึ้ง” หรือ แมงมุมยักษ์ ที่ชาวบ้านยกให้เป็นนักเสี่ยงทายตัวยง อีกด้าน นี่คือพฤติกรรมสัตว์ตามธรรมชาติ ที่ชาวบ้านช่างสังเกต และนำมายึดโยงคู่กับความเชื่อ

“บึ้ง” หรือ แมงมุมยักษ์ ที่ชาวบ้านยกให้เป็นนักเสี่ยงทายตัวยง อีกด้าน นี่คือพฤติกรรมสัตว์ตามธรรมชาติ ที่ชาวบ้านช่างสังเกต และนำมายึดโยงคู่กับความเชื่อ

View icon 6.0K
วันที่ 15 มี.ค. 2566 | 18.10 น.
ข่าวในประเทศ
แชร์
“บึ้ง” หรือ แมงมุมยักษ์ ที่ชาวบ้านยกให้เป็นนักเสี่ยงทายตัวยง อีกด้านนี่คือพฤติกรรมสัตว์ตามธรรมชาติ ที่ชาวบ้านช่างสังเกต และนำมายึดโยงคู่กับความเชื่อ เรามารู้จัก”พญาบึ้ง”ในอีกแง่มุมที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน 

เชื่อว่าใกล้วันหวยออก คนไทยต้องมีลุ้นกับเลขเด็ดจากนักเสี่ยงทาย ที่ชื่อ”พญาบึ้ง”  ภาพของขาแมงมุมยักษ์ ที่โผล่ดันกระดาษม้วนตัวเลขเล็กๆ ออกจากรูดิน คล้ายกับการจับสลากนั้น เป็นภาพที่หลายคน ที่เพิ่งเคยเห็นครั้งแรก ถึงกับอึ้งเลยทีเดียว

แต่อีกด้าน ก็มีความสงสัยกันว่า นี่คือพฤติกรรมสัตว์ตามธรรมชาติหรือไม่ และที่มาของ”พญาบึ้ง” ที่เข้ามาผูกโยงกับความเชื่อของคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะชาวอีสานนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร 

สำหรับ“บึ้ง” อีบึ้ง” หรือ”พญาบึ้ง” เป็นแมงมุมขนาดใหญ่ เป็นสัตว์ห้ามการนำเข้าส่งออกในบัญชีว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)   และเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ในประเทศไทยมี”บึ้ง”อยู่  4 ชนิด ได้แก่ บึ้งลาย  หรือบึ้งม้าลาย บึ้งดำพม่า บึ้งน้ำเงิน และบึ้งดำ พบมากในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ 

นายชวลิต ส่งแสงโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้าน”แมงมุม”ของเมืองไทย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยกับทีมข่าวออนไลน์ 7 HD ว่า  “บึ้ง” เป็นแมงมุมกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ชักใยตามบ้าน แต่จะอาศัยอยู่ใน “รูดิน” “โพรงดิน” แต่ก็มีบางสายพันธุ์เหมือนกัน โดยเฉพาะที่เพิ่งมีการค้นพบสกุลใหม่ของโลกในเมืองไทย พบอาศัยอยู่ใน"ต้นไผ่"

แต่ส่วนใหญ่ที่พบ จะขุดรูในดิน ซึ่งธรรมชาติของ ”บึ้ง” เวลาอยู่ในรูดินที่อาศัย จะมีการฉาบใยผนังรูไว้ เพื่อปกป้องการรุกราน จากไร หรือสัตว์ภายนอก หรือรับรู้โลกภายนอก ผ่านแรงสั่นสะเทือนของเส้นใยเหล่านี้ ที่สำคัญ “บึ้ง” จะมีดวงตาที่เล็กมาก ก็จะใช้ประสาทสัมผัสผ่านขนของตัวมันเอง  ในการรับรู้แรงสั่นสะเทือนที่ส่งมาจากใย

ตัว”บึ้ง” จะหากินโดยออกจากรูในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันก็จะพักผ่อน และทอเส้นใยปิดปากรูไว้  โดยนิสัย ”บึ้ง” จะรักความสะอาดมาก จะทำความสะอาดใย และทำความสะอาดรูดินตลอด  ซึ่งชาวบ้านในภาคอีสาน จะรู้ดี เพราะก็จะมีการขุดหาตัว”บึ้ง” มากินเป็นอาหารด้วยเช่นกัน

ส่วนที่ว่าเหตุใด “บึ้ง” หรือพญาบึ้ง” ถึงมีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องเสี่ยงทาย โชคลาภนั้น  ก็เกิดจากความใกล้ชิด และความฉลาด ช่างสังเกตของชาวบ้านเอง พอเจอใบไม้ตกลงไปในรู ”บึ้ง” มันก็จะพยายามทำความสะอาด โดยการดันใบไม้ออกจากรู ทีละใบๆ  พอเข้าใจในพฤติกรรมและนิสัยของ”บึ้ง” ก็นำมาใช้เป็นตัวเสี่ยงทายโชคลาภดังกล่าว

“ซึ่งการใช้สัตว์มาเป็นตัวนำโชค หรือเสี่ยงโชค นั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะบ้านเรา ในต่างประเทศ อย่างเวลามีการแข่งขันทายผลบอลโลก ก็ยังใช้สัตว์เป็นนักเสี่ยงทายเช่นกัน “

ถ้าถามว่า การทำแบบนี้ 2 ครั้งต่อเดือน ถือเป็นการรบกวนสัตว์หรือไม่  นายชวลิต ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุม เผยว่า ก็ถือเป็นการรบกวน เพราะสัตว์เหล่านี้ ตามธรรมชาติ ถ้าถูกรบกวนมากๆ ก็จะหนีไปขุดรูดินอยู่ที่อื่น  ดังนั้นชาวอีสานจะรู้ดีว่า จะต้องดูแล”บึ้ง”อย่างไร ให้อยู่ให้พื้นที่ และท้องทุ่งนา ไม่ให้เกิดการรบกวน จนสูญหายไป บางคนจะหวงแหนไม่ยอมบอกใคร การที่ระบุว่า รู”บึ้ง”ที่ศักดิ์สิทธิ์และให้โชคลาภ ต้องหันปากรูไปทางทิศตะวันออกเท่านั้น ก็ถือเป็นกุศโลบายอันหนึ่งของชาวบ้าน ให้การบูชา และเสี่ยงทาย ถูกจำกัด ไม่ให้มีการรุกราน”บึ้ง”จนเกินไปนั่นเอง

“พญาบึ้ง” หรือ”อีบึ้ง” กับชาวบ้านในชนบท  จึงนับได้ว่ามีความผูกพันกันมาช้านาน อยู่ร่วมกันทั้งในวิถีชีวิต และวิถีทางธรรมชาติ รวมถึงผูกโยงเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อได้อย่างกลมกลืน